"อนาคตใหม่" ร่วมงานชนเผ่า ฟังปัญหาเกษตรกร-เล็งใช้เทคโนโลยียกระดับ "ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กะเหรี่ยง" เล็งเข้าสภาแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนผืนป่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย นายธีรภัทร์ เทพพันธ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดอุทัยธานี และนายยุทธนา มดแดง ชนเผ่ากะเหรี่ยง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดอุทัยธานี ร่วมงานประเพณีทำบุญข้าวใหม่ ตามความเชื่อของชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยพร้อมพูดคุยรับฟังปัญหาของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ ประเพณีทำบุญข้าวใหม่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นความเชื่อของเกษตรกรว่า จะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ตายไปจากการทำเกษตร เช่น หนอน กิ้งกือ มด ตั๊กแตน เป็นต้น โดยคนในพื้นที่จะนำข้าวและอาหารจากบ้าน แล้วมารวมกันที่ศาลาประจำหมู่บ้านสวดมนต์เป็นภาษากะเหรี่ยง เมื่อเสร็จพิธีก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน ถือเป็นพิธีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานละเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ น.ส.จารุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาหลักของคนในพื้นที่คือ เรื่อง ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รายได้ปัจจุบันไม่สามารถยกระดับชีวิตได้ การทำเกษตรมีแต่หนี้สิ้นจากการกู้เงินมาลงเมล็ดพันธุ์ ซื้อยา ปุ๋ยจากกลุ่มทุนใหญ่ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงเสนอนโยบายเกษตรก้าวหน้า เริ่มจากพักชำระและปลดหนี้เกษตรกรเป็นอย่างแรก จากนั้น จะเข้ามาพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า นำเทคโนโลยีมาใช้ หาตลาดที่เหมาะสม เช่น การปลูกกล้วย ปลีกล้วยเปลี่ยนเป็นน้ำปลีกล้วยเพื่อบำรุงน้ำนมมารดา โดยนำมาต้ม แล้วผ่านกระบวนการทำเป็นผง ปัจจุบันขายซองละ 100 บาท หากเกษตรกรทำได้จริง จะสามารถสร้างงานและสร้างเงินให้กับที่นี่ได้มากจากนั้น สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ท คือ การวิจัยภูมิศาสตร์ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความพิเศษ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยวิจัยว่า พื้นที่นี้เหมาะกับการเพาะปลูกอะไร และนำไปสู่การวิจัยสายพันธุ์เพื่อเป็นพันธุ์เฉพาะ เช่นที่นี่อาจจะเหมาะกับกล้วยเปลือกดำ ที่ใช้รักษามะเร็ง และปลูกได้ที่เดียว เป็นต้นสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องการการบริหารงานแก้ไขให้ตรงจุดเพื่อความยั่งยืน “พอกันทีกับการให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ปลูกพืชเศรษฐกิจราคาต่ำ เพื่อขายให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เราจะยกระดับชีวิตโดยการอบรมให้ความรู้ นำเทคโนโลยีมาใช้ส่งตรงถึงชุมชน ไม่ต้องมีพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป รัฐจะมีหน้าที่หาตลาดใหม่ๆ มาให้ เพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรอง และสามารถกำหนดดราคาสินค้าเกษตรได้เองเหมือนในต่างประเทศ” จารุวรรณกล่าว ด้าน ยุทธนา กล่าวว่า เป็นชาวเผ่ากะเหรี่ยง เกิดและโตบนเขา ห่างไกลความเจริญ แต่สนใจการเมือง เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อพรรคอนาคตใหม่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถสมัครเป็น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคได้ จึงอาสาเข้ามาทำงานตรงนี้ เพื่อเป็นกระบอกเสียง และเข้าไปในรัฐสภาเพื่อร่างกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาชีวิตของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงโดยสิ่งที่ต้องการอยากผลักดันให้เป็นกฎหมายคือเรื่อง สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างพี่น้องชนเผ่า คนในพื้นที่ กับ รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปักทำเขตแดนแนวเขตป่าไม้ หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคนในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมมากกว่านี้ซึ่งการขาดการมีส่วนร่วม สร้างผลกระทบโดยตรงกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ "พื้นที่อุทัยธานี มีผืนป่าห้วยขาแข้ง เป็นฝืนป่ามรดกโลก แทนที่จะช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์รักษาผืนป่า ด้วยแนวคิดสากล คนอยู่กับป่าได้ รักษาป่าคือรักษาชีวิต แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานราชการ ปักเขตแดนโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นำไปสู่การไล่ รื้อ ถอน เผาบ้านเพื่อไล่พี่น้องเราออกจากป่าดังนั้น จึงอาสาเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหานี้” นายยุทธนา กล่าว