ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน (Public Private Partnership) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "PPP" นั้น ถือเป็นเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสร้างจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Infrastructure) ได้เป็นอย่างมาก และในยุคที่รัฐบาลต้องการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC)นั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลักการ PPP จึงเป็นกลไกที่สำคัญเช่นเดียวกัน หากมาย้อนดูว่า ทำไมรัฐบาลต้องใช้วิธีการ PPP แทนที่จะให้การรถไฟดำเนินการเองไปเลย.. ต้องบอกว่า เดิมทีนั้นรัฐต้องเป็นเจ้าภาพอยู่ผู้เดียวในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เพราะคนคิดว่ารัฐนั้น "แสนดี แสนเก่ง" ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของประเทศอันเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าพลังงาน การสื่อสาร คมนาคม ฯลฯ จึงยกให้รัฐเป็นคนดูแล อีกทั้งในเมื่อรัฐนั้นยัง"แสนรวย"ด้วยเงินภาษี การลงทุนก้อนใหญ่ๆ ที่เอกชนอาจไม่ค่อยกล้าทำนั้นก็ให้รัฐทำไปเสียเลยด้วย อย่างไรก็ดีพอผ่านไปนานๆเข้า คนก็รู้ไปเองว่าคิดผิด เพราะนอกจากรัฐจะไม่เก่งแล้วในอดีตยังมีบางกรณี..โกงอีกต่างหาก ประเด็นแรกคือ กรณี PPP เอกชนจะช่วยแบกรับต้นทุนแทนรัฐบาล การไขก๊อกเปิดรับเอาเงินทุนจากทั้งจากในและนอกประเทศเข้ามาแบ่งเบาภาระรัฐและลดปริมาณเงินที่รัฐจำเป็นต้องกู้เพื่อเอามาจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน แต่เรายังคงพบเห็น คนที่ต้านโครงการยังคงพูดวลีซ้ำๆว่า หากรัฐต้องช่วยออกค่าใช้จ่ายเยอะ รัฐทำเองเลยไม่ดีกว่าหรือ?? คำพูดแบบนี้ เป็นการดึงกลับสู่วัฎจักร รัฐทำเอง แล้วก็จะเป็นอย่างที่เห็น เพราะจริงๆแล้ววิธีคิดของเอกชนคิดว่า ทำอย่างไรให้โครงการรอดแบบตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่รอดวันนี้ แล้วไปตายเอาวันหน้า ดังนั้นเลือกที่จะคุยกันให้รู้เรื่องทุกเงื่อนไข ก่อนเริ่มโครงการ จึงไม่แปลกใจที่การเจรจากับเอกชนจะยืดเยื้อ ประเด็นที่สองคือ รัฐบาลต้องกล้าได้กล้าเสียในโครงการ ไม่ใช่ยกความเสี่ยงทั้งหมดให้เอกชน มิเช่นนั้น นักลงทุนประเทศไหนจะกล้าเข้ามาร่วมลงทุน ที่ผ่านมาปัญหาของการลงทุนภาครัฐคือ รัฐไม่มีอะไรจะเสีย หนึ่งเพราะโครงการจะเจ๊งหรือไม่เจ๊งเป็นเรื่องของอนาคตอีกหลายปี ซึ่งอาจจะเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว ทำให้ไม่มีใครอยากเอากระดูกมาแขวนคอ ไม่อยากหาเรื่อง ทำให้ประเทศไทย ไม่มีโครงการที่สร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนได้ เอกชนต้องกินดีหมี หรือใจกล้าจริงๆ ถึงจะกล้าร่วมลงทุนกับโครงการที่ไม่มีการรับประกันอะไรเลย เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาล อาจยกเลิกโครงการเลยก็ได้ ส่วนเอกชนที่ลงทุนไปแล้วคนเดียว เอาไม่ได้เงินลงทุนจากรัฐเลยแม้แต่บาทเดียว เช่นโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน บอกว่า จะมีเงินจากรัฐมาในปีที่ 5 นั่นหมายถึง เงินไม่ได้มาจากรัฐบาลหน้าด้วยซ้ำ แต่คงอีกอย่างน้อย 2 รัฐบาล กว่าจะเริ่มมีเงินมาช่วยภาคเอกชน ดังนั้นคนให้กู้เงินทำโครงการ หรือเอกชนเองก็คงไม่มีใครเชื่อมั่น ประเด็นที่สามคือ วิธีคิดในการทำธุรกิจ เพราะการลงทุนต้องมีกำไร แต่ด้วยการเคยชินกับระบบสัมปทาน ทำให้ไม่ได้ดำเนินการแบบคู่ค้าจริงๆระหว่างรัฐบาล กับเอกชน แต่เป็นการตั้งเงื่อนไข เอาความเสี่ยงทั้งหมดไปให้ภาคเอกชน แน่นอนว่า หากในทางธุรกิจเป็นไปไม่ได้คงไม่มีใครกล้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศที่มีทางเลือกอื่นๆอีกมากมาย และที่สำคัญต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับโอกาสในการสำเร็จของโครงการ ยิ่งดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่เอกชนเท่านั้นที่จะสำเร็จ แต่ภาครัฐก็จะมีโอกาสได้กำไรมากขึ้นด้วย เพราะเอกชนผู้ชนะประมูลต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐอยู่แล้ว การที่รัฐจะเข้ามารับรองอัตราผลตอบแทนโครงการที่ 6% หรือ IRR นั้น ทางการเงินจะใช้เพื่อเป็นตัวชี้ว่า โครงการน่าลงทุนเพียงใด และธนาคารจะดูว่า จะปล่อยกู้ที่ความเสี่ยงเท่าไหร่ แต่หากไม่มีใครกล้าออกมาบอกว่า โครงการนี้จะสร้างผลตอบแทน อย่างน้อย 6% ก็ยากที่ใครจะกล้าเองเงินสองแสนล้านไปลง โดยไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ เรื่องสุดท้าย หากมองดูการประมูลรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ ถือเป็นบททดสอบที่สำคัญของการรถไฟว่า จะเป็นผู้จัดการประมูลได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ แต่ที่สังเกต ระหว่างการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้เสนอราคาต่ำสุดกับการรถไฟนั้นที่เห็นจะมีการปล่อยข้อมูลรายละเอียดการเจรจาออกมาทุกครั้งหลังการพูดคุย ทั้งที่คนที่ปล่อยข่าวเสี่ยงต่อความผิดทางอาญา และยังผิดTOR แต่กลับไม่มีใครกล่าวถึงประเด็นนี้ หากเป็นภาคธุรกิจจริงๆถือว่า การเอาข้อมูลในห้องเจรจามาเผยแพร่ผิดมารยาทการเจรจาธุรกิจ เพราะถือว่า ยังไม่จบการเจรจา และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลรายอื่นทราบข้อมูลที่ถือเป็นความลับทางธุรกิจอีกด้วย งานนี้ต้องดูกันต่อไปว่า การเจรจาธุรกิจ PPP ครั้งนี้จะได้ข้อสรุปเมื่อไร