‘อิศรา’ จัดงาน กก.ป.ป.ช. พบ บก.สื่อ เพื่อแลกเปลี่ยนซักถามความเห็น ‘วัชรพล’ เผยยกเครื่องโฉมใหม่ ก.พ. 62 เตรียมใช้ระบบถ่ายรูป-พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ถูกกล่าวหา ให้ติดตามตัวง่ายขึ้น ลั่นคดีทางการเมืองเสร็จปี 64 ปรับโครงสร้างสำนักงานใหม่หมด กระจายอำนาจสู่ระดับภาค-จังหวัด เชื่อมโยงระบบกับอัยการ-ศาล เพื่อติดตามคดีด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ที่ห้องประชุมผู้บริหารชั้น 3 อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สถาบันอิศรา ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการ ป.ป.ช. รวม 9 ราย เลขาธิการ ป.ป.ช. และรองเลขาธิการ ป.ป.ช. 3 ราย รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. และมีสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการอีก 16รายเป็นผู้ร่วมกิจกรรม พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่มีผลเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2561 เพิ่งมีมติปรับโครงสร้างใหม่ในสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้ทันกับอนาคตข้างหน้า เรียกว่าเป็นการกระจายอำนาจลงไปสู่ระดับพื้นที่ ทำให้ปัญหาร้องเรียนกล่าวหาในต่างจังหวัดได้รับการดำเนินการเร็วขึ้น นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ยังเป็นกฎหมายทางอาญาฉบับแรก ที่กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานทั้งหมด โดยคดีใหม่ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี นับตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นคือในชั้น ป.ป.ช. จนถึงขั้นกลั่นกรองตรวจสอบคือในชั้นอัยการ เมื่ออัยการรับสำนวนไปแล้วต้องพิจารณาใน 180 วัน หากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ต้องแจ้งกลับมาภายใน 90 วัน ทั้งนี้หากไม่ทำตามกำหนดเวลา ต้องมีผู้รับผิดชอบ แสดงว่าบกพร่องต่อหน้าที่ นั่นหมายรวมถึงตัวกรรมการด้วย “กฎหมายใหม่ค่อนข้างมีบริบทบีบคั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่หวั่นไหวพอสมควร จากเดิมมีอิสระค่อนข้างมาก แต่ในกฎหมายใหม่มีกรอบเวลาเข้ามาหมด ดังนั้นต้องดำเนินการให้รองรับกับกฎหมาย นี่เป็นปัญหาที่ท้าทาย ป.ป.ช. เพราะยังมีคดีที่คั่งค้างอยู่ประมาณ 13,000 เรื่องเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมาดูว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ หากไม่ร้ายแรงให้ส่งหน่วยงานอื่นทำแทนได้ ดังนั้นต้องเร่งระดมปรับกลยุทธ์ในการทำงาน” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นติดขัดอยู่ประเด็นหนึ่งคือ กรณีการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เช่น กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย ที่มีในมือ ป.ป.ช. ประมาณ 20 เรื่อง ตรงนี้ต้องผ่านทางอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับประเทศที่ร้องขอด้วยว่าจะ มีอนุสัญญาระหว่างประเทศกับไทย หรือเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์ด้วยกันหรือไม่ เนื่องจากไทยมีโทษประหารชีวิต อาจทำให้ล่าช้า สำหรับความคืบหน้าคดีทางการเมืองตามกฎหมายใหม่นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คดีทางการเมือง และที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ ที่ประชุมมอบหมายให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน โดยการไต่สวนถ้าเป็นคดีใหญ่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายจะเป็นองค์คณะไต่สวน ถ้าเรื่องไม่ใหญ่มากแต่สำคัญ ต้องใช้กรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 ราย เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ยืนยันว่าคดีที่ค้างอยู่เดินตามทางครรลองของมัน แต่รายละเอียดบางคดีมีมาก ต้องทำให้ครบถ้วน อาจต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าทุกเรื่องต้องเสร็จภายในปี 2564 ส่วนกรณีการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 36 ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ปกปิดชื่อผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหานั้น ในชั้นไหนถึงจะเปิดเผยชื่อ และพฤติการณ์เบื้องต้น หากเป็นในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง หรือชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องวินิจฉัยว่าจะเปิดเผยชื่อได้หรือไม่ ตรงนี้คำวินิจฉัยกินความแค่ไหน หรือว่าต้องรอตอนถูกชี้มูลความผิดอย่างเดียว นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในช่วงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการหารือเรื่องนี้พอสมควร โดยหลักการในมาตรา 36 คือการแยกชื่อผู้ร้อง กับผู้ถูกร้อง ไว้ชัดเจน ดังนั้นถ้าเป็นข้อมูลสาธารณะ ไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ร้องได้ทุกกรณี ส่วนผู้ถูกร้องนั้น หากยังอยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงที่กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้หากเป็นประโยชน์ในการไต่สวน เช่น กรณีการเรียกรับเงิน เป็นต้น หรือได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากรวบรวมพยานหลักฐานแล้วสามารถเปิดเผยชื่อ สกุล หรือตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหาได้ เพียงพอให้เข้าใจว่าเป็นข้อกล่าวหาเรื่องอะไร นอกจากนั้นเป็นการพิจารณาลักษณะความผิด แต่ไม่ได้เปิดเผยพยาน หรือรายละเอียดมาก เว้นแต่ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด จะมีการระบุพฤติการณ์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา แต่ต้องคุ้มครองผู้ร้อง และพยาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อรูปคดี เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด จำเป็นต้องเสนออัยการเพื่อฟ้องศาล หากเปิดเผยไปทั้งหมดจะกระทบต่อรูปคดีได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างระเบียบดังกล่าว และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนกรณีนำคำพิพากษาชั้นต้นในคดีที่ใช้สำนวนจาก ป.ป.ช. มาเผยแพร่ต่อสาธารณะนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้นต้องพิจารณาว่าจะเผยแพร่อย่างไร มองบางมุมหากเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปเผยแพร่ ไม่รู้ว่าเป็นบวกหรือลบกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย นายนิวัติไชย กล่าวถึงกรณีนี้เพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีดำริให้สำนักสารสนเทศ ประสานกับสำนักงาน อสส. และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเชื่อมโยงระบบให้ติดตามคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมีการกระจัดกระจายของข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลขององค์กรไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงพยายามพัฒนาปรับปรุงระบบอยู่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างการร่างระเบียบการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาใหม่ เดิมการแจ้งข้อกล่าวหาคือ ให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบ ต่อมาเมื่อไต่สวนไปเรื่อย ๆ มีการชี้มูลความผิด ส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อถึงเวลาจะนำตัวไปฟ้องศาล ป.ป.ช. ต้องเป็นผู้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาไป แต่บางคดีระยะเวลาล่วงไปหลายปี อาจทำให้เจอตัวผู้ถูกกล่าวหายาก คราวนี้จะเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่คือ เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกถ่ายรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย คาดว่าภายในเดือน ก.พ. 2562จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ยืนยันว่าอะไรทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ จะเร่งดำเนินการ