เป็นอันว่าคนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.)ต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62เป็นต้นไปแน่นอนแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ให้บริการรถร่วม ขสมก.และ บขส.บุกกระทรวงคมนาคมยื่นหนังสือขอให้อนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารเนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการประกอบกิจการได้ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานที่ถือว่าเป็นต้นทุนหลักในการประกอบกิจการปรับราคาสูงขึ้น และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายจะมีการช่วยชดเชยค่าก๊าซเอ็นจีวีให้ก็ตามก็ไม่สามารถยืนยัดบริหารธุรกิจได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาขาดทุน มีการหยุดวิ่งให้บริการ พิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ กว่า 200 ราย ให้บริการรถโดยสารสาธารณะรวมกว่า 10,000 คันทั่วประเทศ ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงได้ยื่นข้อเสนอให้มีการพิจารณาขึ้นค่าโดยสาร เพราะค่าโดยสารปัจจุบันที่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 0.49 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น ภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ยอมรับตอนนี้คุณภาพของรถร่วมฯ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะผู้ประกอบการไม่มีทุนไปพัฒนา ซึ่งถ้าหากได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสารก็จะนำเงินไปปรับปรุงสภาพรถและพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเจ๊เกียว สุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่งร่วมบขส.กล่าวว่า การอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถร่วมบขส.ไม่เกิน10% เบื้องต้นประเมินว่าอัตราค่าโดยสารรถร่วม บขส.จะปรับขึ้นกิโลเมตรละ 2-3 สตางค์ แต่เวลานี้ราคาน้ำมันปรับลดลง จึงคาดว่าจะปรับขึ้นเส้นทางละประมาณ 10 บาทเช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. ปัจจุบันค่าโดยสารอยู่ที่ 192 บาท ต้องเก็บเพิ่มอีก 10 บาท รวม 202 บาท เป็นต้น จาการที่ผู้ประกอบการรถโดยสารบุกมาที่กระทรวงคมนาคม ทำให้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม สั่งการด่วนให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะสามารถปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร เพื่อช่วยผู้ประกอบการได้หรือไม่ หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานถึงผลการศึกษาเรื่องอัตราค่าโดยสารของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เสนอแนะว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารให้กลุ่มรถร่วมฯ เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะรถโดยสารที่วิ่งเส้นทางระยะไกลมากกว่า 30 กิโลเมตรที่ต้องแบกรับต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีมากกว่าผู้ประกอบการในเส้นทางสายสั้น โดยในการประชุมของคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง พีระพล ถาวรศุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯระบุว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าภาระของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่หมวด 1-4 ที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด ผู้ประกอบการทั้งหมดต่างมีภาระต้นทุนสูงขึ้น เริ่มจากรถที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯในส่วนของผู้ประกอบการรถร่วมขสมก.ซึ่งที่ผ่านมามีภาระจากการลอยตัวค่าก๊าซเอ็นจีวี แม้ว่าภาครัฐจะมีการช่วยชดเชยค่าก๊าซให้ แต่ไม่ครอบคลุมต้นทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องเดินรถในช่วงการจราจรติดขัด ต้องประสบปัญหาขาดทุน มีการหยุดวิ่งให้บริการไปแล้วประมาณ 500 คัน จากรถร่วมบริการทั้งหมดในระบบกว่า 3,000 คัน ทั้งนี้เห็นควรต้องอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารสำหรับรถร้อนทั้ง ขสมก. และรถร่วมบริการ 1 บาท ส่วนรถปรับอากาศให้ปรับขึ้นระยะละ 1 บาทด้วย โดยรถเมล์ร้อนจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็น8.50 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว ขณะที่รถร่วม บขส.ให้ปรับราคาขึ้นไม่เกิน 10% แบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วยระยะทาง 40 กิโลเมตร(กม.) แรกเดิม 0.49 บาทต่อ กม.เป็น 0.53 บาทต่อ กม.,40-100 กม.เดิม 0.44 บาทต่อ กม.เป็น 0.48 บาทต่อ กม.,100-200 กม.เดิม 0.40 บาทต่อ กม.เป็น 0.44 บาทต่อ กม.และเกิน 200 กม.เดิม 0.36 บาทต่อ กม.เป็น 0.39 บาทต่อ กม. ส่วนกรณีรถของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแผนการปฏิรูป มีการซื้อรถที่อายุไม่ถึง 2 ปี ติดตั้งระบบ E-Ticket และ GPS รถดังกล่าวให้ปรับราคา โดยในส่วนของรถร้อนค่าโดยสาร 12 บาท ส่วนรถปรับอากาศ 4 กิโลเมตรแรก คิดอัตราค่าโดยสาร 15 บาท ระยะหลังจากนั้นให้จัดเก็บ 25 บาทตลอดสาย ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาในอัตราใหม่ทั้งหมดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62 เป็นต้นไป สาเหตุที่ต้องปรับค่าโดยสารขึ้นคณะกรรมการฯให้เหตุผลว่า ที่ผ่านไม่ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบถึงขั้นหยุดวิ่งรถโดยสารไปแล้ว600คัน และ ยังมีรถโดยสารบางส่วนที่หยุดวิ่งให้บริการโดยไม่แจ้งอีกกว่า 1,000 คัน จากทั้งหมดเกือบ4,000 คัน ทำให้ประชาชนต้องรอรถโดยสารเป็นเวลานาน และต้องไปใช้ระบบขนส่งมวลชนโหมดการเดินทางอื่นที่มีราคาสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย จึงจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น เพราะหากไม่ปรับอาจมีรถโดยสารออกที่ต้องหยุดวิ่งอีกจำนวนมาก อีกด้านของประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่ได้รับจากการให้บริการ และต้องการที่จะให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น โดย ดร.นพดล กรรณิกา ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจปัญหาจากรถโดยสารที่ประชาชนได้รับพบว่า ร้อยละ 84.0 รถเมล์ขับเร็ว ขับกระชาก รองลงมาร้อยละ 78.7 หน้าต่าง ประตู ที่จับ ชำรุด เบาะนั่งฉีกขาด,ร้อยละ 76.7 รถเมล์เบรคกะทันหัน ,ร้อยละ 71.0 รถเมล์ไม่จอดชิดขอบทาง จอดเลนสอง ห่างจากขอบถนน,ร้อยละ 70.9 รถเมล์ขับจี้รถคันหน้า ,ร้อยละ 66.4 รถเมล์สภาพเหม็น อับ,ร้อยละ 62.3 รถเมล์บางสายมีรถน้อย,ร้อยละ 60.9 รถเมล์แย่งกันรับผู้โดยสาร ,ร้อยละ 60.6 รถเมล์จอดไม่ตรงป้าย และร้อยละ 60.3 คนขับอารมณ์เสีย หงุดหงิด นอกจากนี้ยังมีในเรื่องรองลงไปคือ สภาพในรถ มีการขีดเขียน ถ้อยคำไม่สุขภาพ พนักงานเก็บค่าโดยสาร พูดจาไม่ดี มีคนล้วง กรีดกระเป๋า และผู้โดยสารหญิงเกินกว่า 1 ใน 3 ที่เคยเจอคนลวนลามทางเพศบนรถเมล์ และเมื่อประเมินความพึงพอใจโดยรวมต่อการให้บริการของรถเมล์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนนพบว่า ได้คะแนนความพึงพอใจจากประชาชน ที่ 5.75 คะแนนเท่านั้น การปรับขึ้นค่าโดยสารรถ ขสมก. และบขส.ในครั้งนี้ แม้จะพิจารณาเหตุผลของผู้ประกอบที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็พอที่จะทำใจได้ แต่ในมุมของชาวบ้านที่ใช้บริการต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่ม โดยเฉพาะในยามที่ข้าวยาก หมากแพงในเวลานี้ต้องการที่จะได้รับบริการที่ดีขึ้น คุ้มค่ากับเงินที่ควักจ่ายเพิ่มไปเช่นเดียวกัน!!!