นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ เปิดเผยถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า (หาบเร่-แผงลอย) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สำนักเทศกิจ (สนท.) ได้ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ปี 2567 โดยทุกเขตกำลังเร่งจัดระเบียบให้สำเร็จตามแผน
“หาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชน จุดไหนที่ไม่เข้าเกณฑ์ ไปต่อไม่ได้จริงๆ เราก็จะพยายามหาเกณฑ์รองมาสวมชั่วคราว เช่นพื้นที่อัตลักษณ์ พื้นที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้เขาอยู่ชั่วคราวไปก่อน โดยจะพิจารณาเป็นรายปี เพื่อให้มีโอกาสหาที่ทาง กทม.ก็จะหาสถานที่รองรับให้ ซึ่งได้คุยกับสมาคมตลาดแห่งประเทศไทยจะแจ้งตลาดเอกชนแต่ละแห่งที่สามารถรับผู้ค้าได้ ก็ต้องมีเสียค่าที่บ้างซึ่งเราจะเจรจาเรื่องค่าเช่าแผงให้ถูกลง" ผอ.สนท.กล่าว
ทั้งนี้ สำนักเทศกิจได้รายงานผลการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากเดิมมีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,297 ราย พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 741 จุด ผู้ค้า 16,550 ราย ปัจจุบันในปี 2568 มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 60 จุด ผู้ค้า 3,723 ราย ยกเลิก 26 จุด ผู้ค้า 574 ราย พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 316 จุด ผู้ค้า 9,768 ราย ยกเลิก 425 จุด ผู้ค้า 6,782 ราย ได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าในจุดที่ยกเลิก โดยให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ และผู้ค้าต้องหยุดทำการค้าทุกวันจันทร์ ร่วมกันล้างทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้า รวมถึงเปิดฝาบ่อพักน้ำทำความสะอาดเดือนละ 1 ครั้ง
ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจประเมินพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับสำนักงานเขต โดยมีผู้อำนวยการเขต ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ฝ่ายเทศกิจ ตัวแทนผู้ค้า เจ้าของอาคาร 2.ระดับสำนักเทศกิจ และ 3.ระดับผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจประเมินเดือนละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย.68 พื้นที่ทำการค้าใดผ่านการประเมินตามแนวทางที่กำหนด เช่น การรับฟังความคิดเห็น การกลั่นกรองของคณะกรรมการระดับเขตและระดับกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจราจร จะพิจารณาให้เสนอเป็นจุดผ่อนผันหรือพื้นที่ทำการค้าต่อไป ส่วนจุดทำการค้าใดที่ไม่ผ่านการประเมินจะต้องบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้สำนักงานเขตจัดทำแผนการดำเนินการต่อไป ปัจจุบัน เขตที่ไม่มีพื้นที่ทำการค้าแล้ว จำนวน 6 เขต ได้แก่ พระโขนง คลองสามวา สายไหม ธนบุรี บางกอกใหญ่ คลองสาน
"ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ข้างกทม. เขาถือสิทธิในการที่จะสัญจรไปมาได้สะดวก ประชาชนสนับสนุนมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะคนGenนี้ที่ถือสิทธิเสรีภาพมาก ว่าเขาทำงานเสียภาษีแล้วเขาไม่ควรถูกลิดรอนในการใช้ทางเท้า ต้องยอมรับว่าผู้ค้าบางจุดมีปัญหากับคนทั่วไปจริงๆ รวมถึงมีปัญหากับการจราจรผลกระทบทั้งจอดส่งของ จอดซื้อของ และปัญหาความสะอาด แม้ผู้ค้าจะไปร้องเรียนที่ไหน จึงต้องทำความเข้าใจชี้แจงว่า กทม.มีความจำเป็นต้องจัดระเบียบ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีผู้ค้า มีได้แต่ต้องจัดระเบียบตามเกณฑ์ที่ กทม.กำหนด" ผอ.สนท.กล่าว