ชี้วัดค่าได้ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่อันตราย แนะฟังข้อมูลจากคพ.เท่านั้น กลุ่มอันตรายต้องอยู่ในพื้นที่ฝุ่นสูงเกิน 12 ชม.ขึ้นไปและมีโรคประจำตัว ต้องรอก.พ.ถึงจะลดลง วางแผน 3 ปีใช้น้ำมัน B2 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.62 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ เป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้า หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ในพื้นที่กทม. และปริมณฑล พร้อมด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ  กองบังคับการตำรวจจราจร กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) รองนายกฯกล่าวหลังการประชุมว่า นายกฯมอบหมายให้มาประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้ประชาชนสับสน เกิดความตระหนกตกใจกับข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อ กรณี ค่า AQI สูง ขอชี้แจงว่า ค่า AQI นั้น เป็นค่าวัดโดยรวม ซึ่งจะมี 6 ส่วนประกอบกัน มี PM 2.5 เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ขณะนี้วัดค่า PM 2.5 ได้ที่ 49 ไมโครกรัม/ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ขอให้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งนี้ มีบางเว็บไซต์ที่รายงานข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงทำให้ประชาชนตื่นตระหนก จากนี้กำชับให้กรมควบคุมมลพิษสื่อสารรายงานให้ประชาชนทราบให้มากขื้น ประชาชนสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้โดยผู้ที่เดินผ่านถนนในระยะสั้นจะไม่ส่งผล ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ PM 2.5 สูงเกิน 50 ไมโครกรัม ระยะ 12 ชม.ขึ้นไปจึงจะเป็นอันตราย รวมถึงผู้เป็นโรคประจำตัว ภูมิแพ้ หอบหึด โรคทางเดินหายใจ ควรต้องใส่หน้ากาก N95 ป้องกัน กรณีมีการจำหน่ายราคาสูง ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปควบคุมดูราคาต้องอยู่ที่ 30-50 บาท แล้วแต่สเปคและยี่ห้อ และไม่ให้มีการกักตุน ขณะมีรายงานสภาพอากาศจากนี้อีก 7 วัน จะมีความกดอากาศจากจีนแผ่ลงมา จะทำให้ PM 25 กระจายได้น้อย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษและทุกหน่วยงานเตรียมแผนป้องกันและมีมาตรการควบคุมแล้ว มลภาวะทางอากาศนี้จะเกิดขึ้นเป็นห้วงเวลาไม่ได้อยู่ตลอดไป ประเทศอื่นๆก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งคาดการณ์สภาวะนี้จะอยู่ไปจนถึงเดือนก.พ.และจะลดลง ได้ให้วางแผนระยะยาวใน 3 ปี ให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันเป็น B2 เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 และลดการใช้เตาเผา สำหรับประชาชนสามารถเข้าดูข้อมูลตรวจสอบสภาพคุณภาพอากาศได้ที่ เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ Air4Thai จะรายงานค่า AOI (ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ) PM 2.5 PM10 ซึ่งเชื่อถือได้ โดยวัดจากเครื่องวัด 43 จุดทั่วกทม.