ดุจดังอสนีบาตฟ้าฟาด แผดเสียงกัมปนาทมาแต่ “ทำเนียบขาว” กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กระเทือนเลื่อนลั่นสู่ “ทำเนียบใหม่ย่านชานกรุงอังการา” กันเลยทีเดียว สำหรับ ถ้อยแถลงทาง “ทวีต” ที่ไม่ผิดอะไรกับ “คำประกาศิต” จาก “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา” มายัง “ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี” ด้วยการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำออกมาว่า จะทำลายล้างเศรษฐกิจของตุรกีให้หายนะ หากตุรกีโจมตีต่อกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในซีเรีย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะเรียกเป็นวาทกรรม “คำขู่” อย่างจังๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ว่าได้ สำหรับถ้อยแถลงการประกาศข้างต้น ซึ่งมีขึ้นเพื่อ “ป้องปราม” กันอยู่ในทีต่อ “แผนการของทางการตุรกีที่หมายล้างบางกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในซีเรีย ให้สิ้นซาก ภายใต้ข้ออ้างว่า พวกเขาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” โดยแผนการที่ว่าของทางการตุรกี ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเออร์โดกันนั้น ก็ขึ้น “ตามหลัง” คือ หลังจากที่สหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศ “แผนการถอนทหาร 2,000 นาย ออกจากซีเรีย” เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อย่างชนิด “ช็อกชาติพันธมิตร” โดยเฉพาะ “ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด” ที่พำนักอาศัยทางตอนเหนือของซีเรีย ที่ออกอาการตื่นตระหนกยิ่งกว่าใครเขาเพื่อน เพราะนั่นมันหมายถึง “สวัสดิภาพ” ความปลอดภัยของพวกเขา ที่มีอันต้องนสั่นคลอนโดยพลัน จากกองทัพตุรกีที่เป็นที่คาดการณ์ว่า จะปฏิบัติการบดขยี้พวกเขา โดยปราศจากการคุ้มครองจากกองทัพสหรัฐฯ ในซีเรีย และแล้วก็เป็นไปตามคาด เมื่อทางรัฐบาลอังการาของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ประกาศแผนปฏิบัติการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในซีเรีย ประกาศไม่ประกาศเปล่า แต่ยังเคยมีคำขู่ไปยังทางการสหรัฐฯ เสียอีกด้วยว่า ให้เร่งถอนทหารออกจากซีเรียเสียโดยไว มิเช่นนั้นจะบดขยี้ชาวเคิร์ดในซีเรียให้หนัก ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกีหาน้อยไม่ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเพิ่ง “ฟื้นคืนดี” กันและกัน จากความระหองระแหงกันมาจนถึงขั้นทางการวอชิงตัน “แซงก์ชัน” คว่ำบาตรทั้งทาง “เศรษฐกิจ” และ “การทหาร” แก่ตุรกีกันมารอบหนึ่งแล้ว เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่ตุรกีจับกุมคุมขัง “นายแอนดรูว์ บรันสัน" ศาสนาจารย์ของคริสต์นิกายอีแวนเจลิคัล ชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับการปล่อยตัวคืนสู่อิสรภาพและกลับสหรัฐฯ บ้านเกิดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยความบาดหมางที่เกิดขึ้นรอบล่าสุด จากกรณีแผนการที่ตุรกีจะถล่มชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดนั้น สามารถกล่าวได้ว่า “มีมานาน” แล้ว โดยทางการอังการาหมายกวาดล้างชาวเคิร์ดทั้งที่อยู่ในพรมแดนของซีเรียเพื่อนบ้าน และในตุรกีเอง ด้วยกำลังทหารยกเข้าปราบปราม ขณะที่ ทางชาวเคิร์ด ก็ไม่ยอมศิโรราบ ได้ตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนขึ้น เป็นหลายกอง ได้แก่ “กองกำลังพรรคแรงงานชาวเคิร์ด” หรือ “พีเคเค” และ “หน่วยพิทักษ์ประชาชนชาวเคิร์ด” หรือ “วายพีจี” ซึ่งทั้งสองกองกำลัง ถูกตีตราจากตุรกีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย พวกนอกกฎหมาย แต่ทว่า ทางการสหรัฐฯ กลับเป็นพันธมิตรกับกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ด โดยเฉพาะ “วายพีจี” ที่เปรียบได้กับเป็นมือ เป็นไม้ ของกองทัพสหรัฐฯ ในการสู้รบกับขบวนการก่อการร้าย “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” ซึ่งมีศูนย์กลางขบวนการในซีเรีย จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเลยทีเดียว จนทางการสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องมิให้ตุรกีโจมตีต่อชาวเคิร์ด หลังสหรัฐฯ ถอนทัพพ้นซีเรียไปแล้ว ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี อย่างไรก็ตาม ทางการอังการาภายใต้การนำของประธานาธิบดีเออร์โดกันหาเชื่อไม่ ยังคงเดินหน้าวางแผนที่จะบดขยี้ชาวเคิร์ดต่อไป ไม่สนทางการสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้าได้ส่ง “จอห์ฯ โบลตัน” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธมิให้เข้าพบประธานาธิบดีเออร์โดกันเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า รวมถึงกำหนดการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดีเออร์โดกัน ตามคำเชิญ ก็ส่อแววมีเค้าว่าจะ “ล่ม” ต้องถือเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ทั้งสหรัฐฯ และตุรกี จะมีวิธีการ “ปลดชนวน” กันอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดระเบิดตูมตามกันขึ้น สำหรับ “ชาวเคิร์ด” ชนกลุ่มน้อยที่ทั้งสองฝ่าย คือ สหรัฐฯ และตรกีมีทัศนคติที่แตกต่าง ยืนตรงข้ามคนละขั้ว