ตามแผนยุทธศาสตร์รุกจีน “3 แนวคิด 7 แนวทาง รุกตลาดจีน” สร้างมูลค่าส่งออก 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น มีผลการศึกษาโอกาสการส่งออกของไทยไปยังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีการนำเข้าประมาณ 3.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 19.2 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของประเทศจีน และร้อยละ 27.2 ของการนำเข้าสินค้าจากไทยที่ส่งออกไปจีนทั้งหมด โดยพบว่าไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกไปยังมณฑลกวางตุ้งได้อีกมาก จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกไปต่ำกว่าศักยภาพถึง 4,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับระดับรายได้ของมณฑลกวางตุ้ง กำลังขยับเข้าสู่เกณฑ์ประเทศที่มีรายได้สูง จึงเป็นโอกาสของไทยในการรุกการส่งออกสินค้าตลาดระดับบนคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ หรือสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์สื่อสาร อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องเร่งพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้และตรงตามความต้องการของตลาด ด้าน “น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาพบประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้ (1). สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน แต่ยังส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งได้ต่ำกว่าศักยภาพมีมูลค่า 4,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มมากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าเพิ่มอีก 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ,เครื่องมือแพทย์/อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ มูลค่าเพิ่มอีก 648 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ เครื่องจักร/เครื่องใช้กล มูลค่าเพิ่มอีก 417 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น วรจรอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้เป็นสินค้าเกษตร 304 ล้านเหรียญฯ เช่น ข้าว (148 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สิ่งสกัดจากมอลต์ (48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และไก่แช่เย็น/แช่แข็ง (33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นต้น (2). โอกาสส่งออกไทยไปมณฑลกวางตุ้งในปี 2570 สามารถกำหนดเป้าหมายที่ 3.13-3.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าเฉลี่ยปัจจุบันที่ 10,663 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 3 ระดับ คือ “เป้าหมายที่ 1” เพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 14,865 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นร้อยละ 4.7 (ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดในมณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 3.4) ของการนำเข้ารวมของมณฑลกวางตุ้ง โดยเร่งส่งออกสินค้าที่ไทยแข่งขันได้ แต่ยังมีการส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งต่ำกว่าศักยภาพ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ เครื่องจักร ให้มีมูลค่าเพิ่มอีก 4,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “เป้าหมายที่ 2” เพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 17,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงรุก โดยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นร้อยละ 5.5 หรือเพิ่มมูลค่าอีกประมาณ 2,465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเน้นเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ เช่น อุปกรณ์สื่อสาร มูลค่าการนำเข้า 2.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ , เพชร (HS 7102) มูลค่าการนำเข้า 4.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ , ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม มูลค่าการนำเข้า 386 ล้านเหรียญสหรัฐฯ , ขนมปัง/เค้ก/บิสกิต มูลค่าการนำเข้า 353 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ “เป้าหมายที่ 3” เป็นเป้าหมายระยะยาว โดยเพิ่มการส่งออกเป็น 31,350-33,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2570 โดยการรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 5.5 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการนำเข้ารวมของมณฑลกวางตุ้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.7-6.0 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9-4.7 ต่อปี น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า มณฑลกวางตุ้งมีความโดดเด่นในหลายด้าน ได้แก่ (1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เป็นอันดับที่ 1 ของจีน มีมูลค่า 1.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถเทียบเท่ากับประเทศอันดับที่ 15 ของโลก มีมูลค่ามากกว่า GDP รวมของ CLMV ถึง 4 เท่า (2) รายได้ต่อหัว 12,010 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 8 ของมณฑลจีน (3) จำนวนประชากร 111 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 1 ของมณฑลจีน (4) การนำเข้ามีมูลค่า 3.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (รองจากอันดับที่ 1 คือ เมืองเซี่ยงไฮ้) และเทียบได้กับอันดับที่ 16 ของโลก (5) เป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางเรือและทางอากาศ และ (6) เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนที่อนุมัติให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-commerce) ถึง 4 เมือง ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนทางการค้าของไทยในมณฑลกวางตุ้ง พบว่า (1) ความต้องการสินค้านำเข้าที่หลากหลาย โดยรายการสินค้าที่มูลค่านำเข้ามากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมากถึง 938 รายการ (จากจำนวนสินค้าประมาณ 1,300 รายการ) (2) ขนาดตลาดมีมูลค่าสูง (3) รายได้ต่อหัวและจำนวนประชากรสูง (4) สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่นิยม และ (5) ไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่มณฑลกวางตุ้งต้องการนำเข้าอยู่แล้ว สำหรับกลยุทธ์รุกตลาดกวางตุ้งเพื่อส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2570 จะประกอบด้วย (1) สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน แต่ยังส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งต่ำกว่าศักยภาพ เน้นทำตลาดโดยเฉพาะข้าว รวมทั้งยกระดับสินค้า (market positioning) สินค้าเป็นสินค้ามูลค่าสูง/เพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวออร์แกนิค เป็นต้น (2) สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และสามารถส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งได้ดีอยู่แล้ว เน้นรักษามาตรฐานสินค้า/ต่อยอดความนิยมในสินค้าเกษตรไปยังสินค้าเกษตรหรือผลไม้อื่น ๆ เช่น มังคุดและลำไย และ(3). สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันต่ำ เน้นพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งอาหารสำเร็จรูปและเครื่องสำอาง (4) เน้นเจาะพื้นที่รายเมืองที่มีศักยภาพสูง โดยกวางตุ้งมีถึง 4 เมืองที่ติดอยู่ใน 50 เมืองแรกที่มีรายได้ตัวหัวสูงสุด (5) เน้นการทำตลาดแบบ O2O (Online/Offline) ด้านออฟไลน์ เน้นการแสดงสินค้าตามจุดยุทธศาสตร์ และตั้งเป้าเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทยให้มากขึ้น เป็นต้น