กรมชลประทาน : เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน(ฝ่ายก่อสร้าง) พร้อมด้วย นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ฯ และ บริษัทที่ปรึกษาแต่ละสัญญา ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า งานก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา เพื่อผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝน โดยมีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ยประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนระยะที่ 2 เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลำน้ำแม่แตงที่บ้านแม่ตะมาน ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง พร้อมกับก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อที่จะผันน้ำส่วนที่เกินความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของทุกปีเฉลี่ย 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เร่งรัดผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินโครงการฯ ตามที่สัญญาได้ระบุไว้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จากนั้นเวลา 16.30 น. รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมสรุปการติดตาม เร่งรัด การดำเนินการก่อสร้าง โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ พร้อมกับบริษัทผู้รับจ้างเข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน(ฝ่ายก่อสร้าง) กล่าวว่า หากโครงการฯแล้วเสร็จทั้งหมด จะก่อประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ คือ 1.เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้มากขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค - บริโภค อุตสาหกรรม และ รักษาระบบนิเวศ เพิ่มขึ้น 2.เพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 175,000 ไร่ 3.เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ 4.สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค การท่องเที่ยว และ ภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร 5.เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยนำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้า และ 6.เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้กว่า 14,550 ไร่ นายประพิศ กล่าว. กิตติพงษ์ ทุนเพิ่ม ทีมข่าวภูมิภาค