วันที่ 12 ม.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วิทยาเทคนิคสตูล นักศึกษานำสิ่งประดิษฐ์ของตนเอง เข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับ ภาคใต้ ประจำปีการศึกษา 2561 ในเวที สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา โดย ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด นายวงศกร นุนชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวต้อนรับ นายสายันต์ แสงสุริยันต์ ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ภาคใต้ กล่าวรายงาน ว่า การจัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษาสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 มกราคม 2562 ณ วิทยาลัยเทคนิคสตูล จังหวัดสตูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ปีแห่งการพัฒนาและยกระดับคุณภาพความเข้มแข็งด้านอาชีวศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ส่งเสริมสนับสนุนและเสริมสร้างเยาวชนอาชีวศึกษาให้เป็นนักคิดนักประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้น รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม Thailand 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของภาคใต้พัฒนาความรู้ทักษะของนักศึกษาให้เข้าสู่ความเป็นมาตรฐานและพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันและเพื่อคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ จำนวน 36 ผลงาน และการนำเสนอองค์ความรู้ภาคภาษาอังกฤษ ผลงานเป็นตัวแทนสถานศึกษาภาคใต้เข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ในระดับชาติต่อไป โอกาสนี้ ดร.ประชาคม จันทรชิต กล่าวว่า งานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา หรือการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนอาชีวศึกษา เพราะว่า แนวคิดเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนการสอนซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สวนและนักเรียนนักศึกษาในการคิดประดิษฐ์ชิ้นงาน ซึ่งได้แนวคิดจากการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา จากนั้นก็มีการประกวดขึ้นมาไม่ว่าจะในระดับประถมศึกษา ในระดับจังหวัด ในระดับภาค โอกาสนี้ขอเชิญชวนนักศึกษาระมัธยมศึกษา ผู้ปกครอง มาดูมาสัมผัสแล้วจะเห็น การจัดการศึกษาซึ่งจะตอบโจทย์ในวันข้างหน้าได้ ซึ่งเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญ คือการประกอบอาชีพ ดร.ประชาคม จันทรชิต กล่าวอีกว่า นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานั้น ปีนี้จะให้ความสำคัญการต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และเชิงอุตสาหกรรมเพราะว่า อยากให้ชิ้นงานของนักศึกษาที่ผ่านการประกวดแล้วได้พัฒนาไปในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างมูลค่าสำหรับชิ้นงาน และที่สำคัญคือเป็นแรงจูงใจให้ครูผู้สอน และรักศึกษาที่มีส่วนในการคิดค้นชิ้นงาน จะได้มีค่าตอบแทน มีกำลังใจการคิดค้นต่อไป สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่จัดประกวดในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 9 ประเภทผลงานและ 1 องค์ความรู้ 1. สิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต 2.สิ่งประดิษฐ์เพื่อการประกอบอาชีพ 3.สิ่งประดิษฐ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน 4.สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร 5.สิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์ 6.สิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบสมองกลฝังตัว 7.สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และบรรเทาสาธารณภัย 8.สิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 9.สิ่งประดิษฐ์ประเภทกำหนดโจทย์ โดยมีสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาภาคใต้ที่เข้าร่วมจำนวน 77 แห่งมีนักเรียนนักศึกษาจำนวน 1,533 คน มีผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นจำนวน 512 ผลงาน และการประกวดองค์ความรู้การนำเสนอผลงานวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ภาคภาษาอังกฤษจำนวน 36 ทีม