ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ“หม่อมเต่า” ได้เขียน 6 ความบทพิเศษ เพื่อทำการเผยแพร่ ได้แก่ บริจาคภาษีให้พรรคการเมือง, ร่วมกันเราทำได้,ค่าอาหารเด็กในโรงเรียน, ธนาคารแห่งประเทศไทย กับ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 , ทบวงจัดเก็บภาษีอิสระ และ พาณิชยนาวี เรือดำน้ำ ท่าเรือพังงา โดย'สยามรัฐ'ออนไลน์ จะนำเสนอเป็นตอนๆ ให้คุณผู้อ่านได้ติดตามดังนี้ สำหรับบทความที่สี่ในวันนี้ ขอเสนอเรื่อง “ธนาคารแห่งประเทศไทย กับ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561” สมัยร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งในที่สุดประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ยังไม่บังคับใช้ มีปัญหาว่าทำยังไงธนาคารแห่งประเทศไทยถึงจะอิสระ แต่มีขบวนการสัมพันธ์กับรัฐบาลและนโยบายการคลัง เพราะ 2 อย่างเดินไปด้วยอิสระจากกันเสียเลยไม่ได้ ตอนร่างก็เลยใช้วิธีเขียนว่าให้รัฐมนตรีคลังไม่สามารถปลดผู้ว่าออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีความสามารถทำงานได้โดยอิสระ และให้มีคณะกรรมการเลือกผู้ที่จะเป็นผู้ว่าแต่ละครั้ง แต่ประธานของคณะก็ยังเป็นปลัดคลังซึ่งรัฐมนตรีคลังย้ายได้ ผู้ว่าจึงยังไม่อิสระจริง แต่ก็ทำได้แค่นั้นเพราะถ้าอิสระโดยสิ้นเชิงแล้วจะประสานงานกันอย่างไร ระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ทั้งคู่เดินกันด้วยความอิสระได้แต่ต้องสัมพันธ์กัน ในคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีการแก้ไขทำให้ความอิสระแทบจะหายไปโดยสิ้นเชิง โดยให้รัฐมนตรีปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ตามที่ได้เขียนไว้ในหนังสือสดุดี (คนอื่น) ต่อมามีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ออกมา มีองค์กรอิสระถึง 9 องค์กร มีคณะกรรมการและมีวิธีเลือกองค์กรอิสระต่าง ๆ นานา เสียดายที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับ พ.ศ. 2551 ร่างก่อนรัฐธรรมนูญจะออกใช้ ไม่เช่นนั้นน่าจะพิจารณาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรอิสระทำนองเดียวกับ 9 องค์กรอิสระ จะได้ดูแลรักษาการเงินของประเทศให้อย่างดี โดยไม่ถูกกระทบด้วยการเมือง การเมืองก็สำคัญ ประชาชนเลือกรัฐบาลเข้ามาเพื่อบริหารประเทศ ไม่สามารถสัมพันธ์กับนโยบายการเงินได้อย่างไร ตอนนี้มีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังออกมา กำหนดชัดแจ้งว่านโยบายการเงินการคลังต้องประสานด้วยคณะกรรมการซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขบวนการครบเครื่องเลยในการมีความอิสระและการประสานงาน ดีไหมถ้าเราจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โปรดติดตามต่อในตอนที่ห้า #6เรื่องที่ควรคิดจากหม่อมเต่า