หมายเหตุ: เมื่อการเมืองเข้าสู่บรรยากาศของการหาเสียง จึงทำให้ทุกพรรคต่างส่ง “ขุนพล” ขึ้นเวทีทำหน้าที่นักปราศรัย เรียกคะแนนจากพี่น้องประชาชนในจังหวัดต่างๆกันอย่างคึกคัก แต่ที่เกิดเป็นประเด็นเรียกแขก ปลุกความร้อนแรงจากต่างจังหวัด มาถึง “ทำเนียบรัฐบาล”ได้ชัดเจนที่สุด คงไม่พ้นกรณี “ยงยุทธ ติยะไพรัช” แกนนำพรรคเพื่อชาติ ที่ขึ้นเวทีปราศรัยที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ประกาศ “พาทักษิณ กลับบ้าน” หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยใช้ความพยายามมาแล้วถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ วิฑูรย์ นามบุตร การปลุกกระแส “ทักษิณ” เช่นนี้ย่อมไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่สำหรับการเลือกตั้งรอบนี้ ต้องนับว่าต่างฝ่ายต่างถือเดิมพันไม่น้อยไปกว่ากัน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษเพื่อสะท้อนมุมมองจากฝ่ายการเมืองและนักรัฐศาสตร์ ในประเด็นดังกล่าว ผ่านมุมมองของ “วิฑูรย์ นามบุตร” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้ -ภาพรวมในพื้นที่ภาคอีสานของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอย่างไรบ้าง ภาคอีสานมีทั้งหมด 20 จังหวัด มี 116 เขตเลือกตั้ง พื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์มี 4 เขตในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคส่งผู้สมัครครบทั้ง 116 เขต และมีโอกาสที่พรรคจะได้ส.ส. มากขึ้นกว่าเดิมเยอะ เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูง เพราะพรรคมีความพร้อมและสู้ทุกเขต โดยเฉพาะนโยบาย “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ”โดนใจคนอีสานแน่นอน ครอบคลุมเกือบทุกเรื่อง และที่สำคัญจะนำนโยบายเดิมๆของพรรคมาปรับปรุงให้ดีขึ้น และปฏิบัติได้จริง ไม่ว่าจะเป็น อสม.ค่าครองชีพผู้สูงอายุ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมีการปรับปรุงค่าตอบแทน และการให้อำนาจกับผู้นำต่างๆ รวมถึงชุมชน นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำต่อไป ส่วนคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย และพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยตัดปัญหาไปได้เลยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ใช่คู่แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร จะได้ส.ส กี่คนก็ไม่สามารถเอานโยบายไปปฏิบัติได้ เพราะพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้าน 100 เปอร์เซ็นต์ และครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แต่จะได้ส.ส.เขตเยอะ จึงได้แตกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ เป็นต้น เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา กลุ่มพรรคเหล่านี้จะจับมือกันเป็นรัฐบาล ขึ้นอยู่ที่ว่าพรรคไหนจะได้ส.ส. เป็นอันดับหนึ่ง หากในกลุ่มนี้พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.อันดับหนึ่ง คงจะให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แต่โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นแกนนำอันดับหนึ่งเป็นไปได้ยากมาก แต่ในกลุ่มนี้ผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน ผมมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงที่มั่นคงที่ภาคใต้ 50 เขตอย่างน้อยต้องได้ 45 คน ภาคกลาง 92 เขต อย่างน้อยต้องได้ไม่ต่ำกว่า 25 คน ส่วนกทม.ได้ไม่ต่ำกว่า 15 คน ส่วนภาคเหนือก็ได้ไม่น้อย 10 คน ส่วนภาคอีสานจะได้ 5 คน รวมแล้ว 100 คน ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ มั่นใจจะได้ 30-50 คน รวมแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะได้ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 130 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะได้ส.ส.ไม่ถึง 100 คน นับอย่างไรก็ไม่รู้จะได้ส.ส. มาจากภาคไหน หรือจังหวัดไหนบ้าง มองไม่เห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ หรือกทม.ไม่มีตัวเด่น ๆส่วนภาคกลางอาจจะได้ 20-30 คน ส่วนพื้นที่กทม.จะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนภาคเหนือจะได้ส.ส.น้อยมาก เพราะเจ้าของพื้นที่เดิมเป็นของพรรคเพื่อไทย ส่วนภาคอีสานมองแทบไม่ออกว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้กี่คน เพราะพรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส อีสานเยอะ แต่พลังประชารัฐอาจจะแทรกมาได้บ้างที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา ส่วนอีสานตอนบน 15-16 จังหวัดพรรคพลังประชารัฐแทบจะไม่ได้ส.ส.เลย เพราะฉะนั้นรวมแล้วพลังประชารัฐอาจจะได้ส.ส.ประมาณ 30-40 คนถือว่าลำบากมากแล้ว ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐอาจจะได้ไม่มาก สาเหตุเพราะถูกกระแสมวลชนโจมตีเยอะ โดยเฉพาะในภาคอีสานไม่เอารัฐบาลทหาร ไม่เอาสืบทอดอำนาจ เพราะฉะนั้นโอกาสที่พรรคทหารจะมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลน้อยมาก แต่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้อันดับหนึ่ง พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ใครจะมาที่ 2 ที่ 3 ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาจะมาที่ 4 หรือที่ 5 -การที่พรรคเพื่อชาติชูนโยบายหาเสียง “พาทักษิณ กลับบ้าน” จะทำให้ดึงคะแนนเสียงได้มากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ชื่อนายทักษิณขายไม่ได้แล้ว เพราะความนิยมของทักษิณเมื่อเทียบกับปี 2544 และปี 2548 ตอนนั้น 100เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะประชาชนเริ่มเบื่อความขัดแย้ง ไม่ต้องการให้ใครมาสร้างความขัดแย้งในบ้านเมืองอีก ดังนั้นยุคทักษิณหมดไปแล้ว ไปพร้อมกับ 30 บาท เงินล้าน แต่นโยบายคนยังชอบอยู่ แต่เรื่องตัวบุคคลสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็แฟนใครแฟนมัน ส่วนตัวทักษิณไม่มีผลต่อคะแนนเสียงในพื้นที่อีสานแล้ว แต่ก็ยังมีคนชอบพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานส่วนใหญ่มาจากส.ส. หากส.ส.ย้ายไปอยู่พรรคไหนก็ไม่มีผลอะไร เพราะแต่ละคนมีฐานเสียงของตัวเอง ถ้าสมมติผมย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยคะแนนส่วนใหญ่ก็จะไปตามผมไปด้วย เช่นเดียวกันถ้าส.ส.พรรคเพื่อไทยย้ายไปอยู่ที่อื่นคะแนนก็จะตามไปด้วย เพราะคะแนนไม่ได้ตามพรรคไป ดังนั้นการนำชื่อทักษิณมาอ้างไม่ได้ผล หรือดังเปรี้ยงปร้างเหมือนในปี 2544 และปี 2548 - ขณะเดียวกันทางนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำกลุ่มสามมิตร ประกาศหาเสียงในภาคอีสานเลือกพรรคพลังประชารัฐไม่ให้นายทักษิณกลับบ้าน จะส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไร พรรคพลังประชารัฐไม่เอานายทักษิณอยู่แล้ว แต่การพูดอย่างนี้ก็ไม่ได้ผลต่อคะแนนมากนัก เพราะแฟนใครแฟนมัน เพราะแฟนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่อาจจะมีผลบ้างสำหรับคนที่กลาง ๆ ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เห็นด้วยเพราะถ้าการพูดลักษณะอย่างนี้เหมือนเป็นการเติมไฟสร้างความขัดแย้ง ไม่น่าจะเป็นผลดีสำหรับประเทศไทย ต้องยึดหลักของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สร้างความขัดแย้งกับใครจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่เบื่อความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะกระแสดีอยู่แล้ว ถ้าคนเสื้อแดง คนกลาง จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่ากลุ่มพรรคเพื่อไทย ส่วนแฟนพันธุ์แท้คนเสื้อแดงก็ยังอยู่เหมือนเดิม ยุทธพร อิสระชัย ขณะที่ “ยุทธพร อิสระชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ถึงโอกาสและความสำเร็จ ตลอดจน “เหตุผล” ที่ทำให้พรรคเพื่อชาติต้องปลุกผี ชูชื่อทักษิณ ขึ้นมาเป็นจุดขายครั้งนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ - จากกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ เรียกร้องให้ทางคสช. และ นายทักษิณ ชินวัตร เปิดโต๊ะเจรจากันเพื่อสร้างความปรองดอง มองว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่นายทักษิณจะกลับมาประเทศไทย มองว่าโอกาสที่นายทักษิณจะกลับมาประเทศไทย คงไม่ง่ายนัก เนื่องจากยังมีคดีความต่างๆ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกดำเนินคดี ดังนั้นมองว่าวันนี้นายทักษิณคงยังไม่กลับมา นอกจากจะมีการนิรโทษกรรมหรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจะทำให้เห็นภาพของการที่นายทักษิณกลับมา แต่การที่พรรคเพื่อชาติหรือนายยงยุทธ จะหยิบยกประเด็นการปลุกนายทักษิณ กลับมา เพื่อใช้เป็นประเด็นในการหาเสียง ก็มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่านายทักษิณ ยังมีคนนิยมและศรัทธาอยู่ เมื่อมีผู้คนที่นิยมศรัทธาในตัวของนายทักษิณ การใช้นายทักษิณในการหาเสียง ก็ถือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาโครงสร้างของพรรคเพื่อชาติ ก็ไม่ได้มีบุคคลที่เป็นบิ๊กเนมอย่างพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักษาชาติ เพราะอย่างนายยงยุทธเอง ก็ยังไม่สามารถเข้ามาร่วมได้อย่างเต็มตัว หรือแม้กระทั่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ยังไม่สามารถเข้ามาร่วมได้ และต้องอยู่ในฐานะกองเชียร์อะไรต่างๆ ก็ตาม จึงทำให้พรรคเพื่อชาติยังไม่มีจุดขาย ดังนั้นจุดขายของพรรคเพื่อชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอมาเป็นกลางทางการเมือง เข้ามาทำเพื่อชาติ ต้องการสลายขั้วทางการเมือง หรืออะไรต่างๆ ก็ตาม จะเห็นได้ว่ายังดูไม่ค่อยมีน้ำหนัก หรือมีสีสันในการที่จะดึงผู้คนให้เข้ามาสนับสนุนมากนัก ทำให้การปลุกนายทักษิณขึ้นมา อาจจะสามารถเรียกฐานเสียงที่สนับสนุนนายทักษิณได้ดีมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพรรคเหล่านี้ที่จะมีการดึงนายทักษิณเข้ามาเพื่อเป็นจุดขายของพรรค -อย่างที่บอกว่าฝ่ายสนับสนุนนายทักษิณ มีการปลุกชื่อนายทักษิณขึ้นมาเพื่อต้องการหาเสียง และเป็นจุดขายให้พรรค แล้วฝ่ายที่ไม่ได้สนับสนุนนายทักษิณ อย่างพปชร. ที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ มีการใช้ชื่อนายทักษิณ ในการพูดคุยกับประชาชนว่าหากไม่เลือกพรรคพปชร. นายทักษิณจะกลับมา มองว่าต้องการสื่อถึงอะไร พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่มีแนวทางชัดเจนคือต้องการสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. ซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนว่ายืนอยู่ตรงข้ามกับพรรคที่ต่อต้าน คสช. อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะต้องชูประเด็นการไม่เอานายทักษิณ ที่ถือเป็นอุดมการณ์ของพรรคเขาอยู่แล้ว จะเห็นว่าแนวทางของพรรคพลังประชารัฐจะตรงข้ามกับแนวทางของพรรคเพื่อชาติในการที่จะนำนายทักษิณกลับมา - ประเด็นการปลุกนายทักษิณที่มีการตอบโต้กันไปมาของทั้งพรรคที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน มองว่าลึกๆ แล้วไม่มีใครที่จะสามารถก้าวข้ามความเป็นนายทักษิณได้เลยใช่หรือไม่ เหตุผลที่เราไม่สามารถก้าวข้ามนายทักษิณได้ เป็นเพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีประเด็นในการตอบโต้กับนายทักษิณตลอดเวลา ทั้งเรื่องคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวนายทักษิณ การวิวาทะระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองกับนายทักษิณ ดังนั้นปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้การก้าวข้ามนายทักษิณของสังคมไทยเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันนายทักษิณเองก็พยายามที่จะสร้างข่าวให้กับตัวเองมาโดยตลอด ทั้งการโพสต์ผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย การแสดงท่าทีทางการเมือง การไปปรากฏตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการตอบโต้กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานบอร์ด บริษัท ท่าเรือแห่งหนึ่งในซัวเถา ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างข่าวขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้บทบาทของตนเองยังคงอยู่ในหน้าสื่อ ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามก็ยังวนเวียนอยู่กับนายทักษิณ หรือคนในตระกูลชินวัตร ดังนั้นทำให้เรื่องราวของนายทักษิณยังคงมีอยู่ ไม่สามารถก้าวข้ามได้ แม้ระยะเวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่ามันกลายเป็นเรื่องในเชิงสัญลักษณ์ไปแล้ว “ผมมองว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งที่จะถูกนำมาหาเสียง นอกเหนือจากการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ของฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายที่อาจจะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบนัก ประเด็นนายทักษิณจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะถูกหยิบยกมาระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนนายทักษิณและไม่สนับสนุน ดังนั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยอย่างไรก็ไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นนายทักษิณได้ เชื่อว่าหากการเมืองยังไม่นิ่งแบบนี้ อีกหลายปีกว่าเราจะสามารถก้าวข้ามนายทักษิณได้”