เมื่อวันที่ 8 ม.ค.เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม สหภาพยุโรปหรืออียูได้ประกาศเพิกถอนประเทศไทย จากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือนทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU ย่อมาจาก Illegal,Unreported and Unregulated Fishing เป็นการยอมรับความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม แถลงการณ์ของอียู ระบุว่ารับทราบถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องในระบบกฎหมาย และการบริหารการประมงของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงมีมติยกใบเหลืองที่ได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2558 โดยที่ผ่านมาไทยได้ยกระดับการกำกับดูแลกิจการประมงของไทยให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศมี 6 กรอบที่สำคัญ ทั้งด้านกฎหมาย ด้านการจัดการกองเรือ การติดตามควบคุมเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมายและด้านแรงงาน ส่งผลให้ไทยหลุดเรื่องการมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยประเทศไทยได้ประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในกิจการประมง (C188) ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันนี้ ภายหลังอียูปลดธงเหลืองการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้ระเบียบ(ไอยูยู)ให้ไทย ส่งผลให้บรรยากาศในภาคการประมง แรงงาน การส่งออกและภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ภาคเอกชนและผู้ประกอบการออกมาตอบรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวรวมทั้งภาครัฐที่นับเป็นผลงานชิ้นโบแดง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการปลดธงเหลือง ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อส่วนรวมในภาพรวมการทำประมงของประเทศ เพราะเราส่งออกสินค้าอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีในส่วนอื่นๆ เราต้องปรับปรุงและดำเนินการต่อไปให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนทำให้การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หนึ่งที่เราสามารถดำเนินการได้ภายใน 4 ปี รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการตั้งแต่ปีแรกที่เราเข้ามาบริหารประเทศ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment,Maritime Affairs,and Fisheries)ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยูฟรีได้โดยสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูร่วมกันด้วยประกอบด้วย 3 แผนหลักได้แก่ 1.การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรปเรื่องการต่อต้านการทำประมงไอยูยู โดยทั้ง2ฝ่ายเห็นพ้องให้การมีจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกร่วมมือในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง 2.การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู หรือ ASEAN IUU Task Force เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมาไทยพร้อมร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงมีแนวคิดหลักที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนด้วย โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy)ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู (ASEAN IUU Task Force)เพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูของภูมิภาคด้วย โดยนายกฯได้แถลงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้แล้วในการประชุมสุดอาเซียนครั้งที่ 33 เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN IUU Workshop ในช่วงเดือนเม.ย.62 เพื่อผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Task Force 3.การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู หรือ IUU-free Thailand ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู และได้เชิญผู้แทนอียูเข้าร่วมประชุม เมื่อเดือนธ.ค.61 ซึ่งอียูได้มอบหมายให้นายโรแบร์โต เซซารี หัวหน้าฝ่ายนโยบายไอยูยู ของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง (DG MARE)เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย และนำไปสู่ IUU-freeThailand ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการสายงานธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหาร กล่าวว่า ภาคเอกชนไทย โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง ขอขอบคุณ และชื่นชมรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing มาตลอดระยะเวลา 4 ปีซึ่งสะท้อนให้สังคมโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing อย่างแท้จริง นอกจากนี้การดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยในปี 2561รายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ TIPs Report ประเทศไทยอยู่ที่ระดับ Tier 2 ทั้งหมดนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับประเทศไทยในการการพัฒนาธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมประมงของไทยในอนาคต ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนของเมืองไทย และการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าประมงที่ส่งออกไปต่างประเทศต่อตลาดโลก และประเทศผู้นำเข้าให้เกิดการยอมรับอย่างยั่งยืน งานนี้ถือเป็นข่าวดีของชาวประมงไทย เพราะจะส่งผลดีต่อธุรกิจประมงทั้งระบบ สินค้าประมงไทยจะทำให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยสามารถแก้ปัญหาไอยูยูได้ทั้งระบบ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ เป็นต้น และยังส่งผลดีราคาสินค้าประมงสูงขึ้น ทำให้ชาวประมงลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น หลังจากต้องลำบากมาหลายปี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลที่ดีต่อภาพลักษณ์การทำการประมงของไทย ให้พ้นจากข้อกล่าวหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไอยูยู หรือแม้กระทั่งการค้ามนุษย์ให้เป็นที่ประจักษ์กับสายตาชาวโลก โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจต่อผู้นำเข้าและผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าประมงของไทยเพิ่มมากขึ้นในในอนาคต แต่เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องจำผลกระทบจากการถูกขึ้นบัญชีดำครั้งนี้ไว้เป็นบทเรียน และต้องเข้มงวดอย่างจริงจังและจริงใจต่อไป เพื่อไม่ให้กลับเข้าไปสูงวังวนเดิมๆเพราะนั่นหมายถึงความสูญเสียทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมืองไทยในสายตาชาวโลกให้ถูกมองในด้านลบว่าประเทศไทยด้อยพัฒนา...