จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ พื้นที่เหมาะสม (S1,S2) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 (สศท.4) จังหวัดขอนแก่น ได้ทำการศึกษาสินค้าเกษตรที่สำคัญ Top 4 ของจังหวัดมหาสารคาม พบว่า ข้าวเหนียวนาปี อ้อยโรงงาน โคเนื้อ และกระบือ เป็น 4 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดของจังหวัด โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) กับพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ และนำเสนอสินค้าเกษตรทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงให้แก่เกษตรกร สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมของนาข้าวตามแผนที่ Agri-Map จากการศึกษา พบว่า ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) สำหรับการปลูกข้าว จำนวน 1,380,100 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จำนวน 789,800 ไร่ ในขณะที่อ้อยโรงงาน มีพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) สำหรับการปลูกจำนวน 90,956 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จำนวน 84,962 ไร่ หากพิจารณาผลตอบแทนสุทธิจากการผลิต ข้าวเหนียวนาปี ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) พบว่า เกษตรกรได้กำไร 1,353 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เกษตรกรขาดทุน 2,160 บาท/ไร่ อ้อยโรงงาน ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้กำไร 1,311 บาท/ไร่ ส่วนในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้กำไร 355 บาท/ไร่ ด้านโคเนื้อและกระบือ ไม่แยกพื้นที่ความเหมาะสม โดยโคเนื้อ ให้ผลตอบแทน 7,921 บาท/ตัว และ กระบือ ให้ผลตอบแทน 6,307 บาท/ตัว นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำหรับสินค้าทางเลือกเพื่อปรับเปลี่ยนนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม พบว่า มันสำปะหลัง สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิที่สูงกว่าข้าวเหนียวนาปี โดยมีต้นทุน 6,621 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ เกษตรกรได้กำไร 551 บาท/ไร่ กล้วยหอมทอง มีต้นทุน 28,091 บาท/ไร่ เกษตรกรได้กำไรในปีแรก 657 บาท/ไร่ (ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นในปีถัดไป) พืชผัก อาทิ กะหล่ำปลี ปลูกปีละ 1 รอบ เฉพาะช่วงฤดูหนาว เริ่มปลูกธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ต้นทุน 20,358 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้กำไร 26,925 บาท/ไร่ ผักรวม ได้แก่ ผักชี ต้นหอม โหระพา สะระแหน่ ใบแมงลัก กะเพรา ซึ่งปลูกได้ตลอดปี อายุเก็บเกี่ยว 40-50 วัน มีต้นทุน 7,068 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้กำไร 11,755 บาท/ไร่/รอบการผลิต และผักกาด ปลูกปีละ 3 รอบ ช่วงเวลาปลูก ธันวาคม-พฤษภาคม อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน ต้นทุน 2,395 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้กำไร 9,382 บาท/ไร่/รอบการผลิต ด้าน นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าว สศท.4 ได้นำเสนอในที่ประชุม โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ปี 2561 ของจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนส่วนราชการ รวมทั้งผู้แทนเกษตรกร เพื่อนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรมีข้อเสนอว่านอกเหนือจากสินค้า Top4 และพืชทางเลือกที่เสนอมาแล้วนั้น ควรส่งเสริมการปลูกอินทผาลัม พืชสมุนไพร หม่อนไหม การเลี้ยงโคนม และการเลี้ยงปลาตะเพียนเพื่อแปรรูป ซึ่งสินค้าดังกล่าวยังเป็นที่ต้องการของตลาด และคาดว่าจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรให้สามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับสินค้าชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยผลิตในพื้นที่ หากเกษตรกรจะทดลองผลิตจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับควรศึกษาข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน และเรื่องการตลาด ตามแนวทางตลาดนำการผลิตให้รอบคอบ