"คุมประพฤติ"สรุปสถิติผู้กระทำผิดช่วงเทศกาลปีใหม่รวม 9,453 คดี เมาแล้วขับมากสุด 92.1% ติด EM ทั้งหมด 116 ราย วันที่ 7 ม.ค.62 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวสถิติคดี “ดื่มแล้วขับ/ขับขี่ประมาท ถูกจับคุมประพฤติ” ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 นายประสาร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือ 7 วันอันตราย ช่วงระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.61 - 2 ม.ค.62 มีการเกิดอุบัติเหตุ 3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 463 ราย และผู้บาดเจ็บ 3,892 ราย มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 117 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 9,453 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 8,706 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.1 , ขับเสพและอื่นๆ จำนวน 701 คดี คิดเป็นร้อยละ 7.42 , ขับรถประมาท (ตามประมวลกฎหมายอาญา) จำนวน 44 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.46 และ ขับซิ่ง จำนวน 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.02 หากเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2561 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2,776 คดี คิดเป็นร้อยละ 41.58 โดยผู้กระทำผิดคดีขับรถขณะเมาสุราเป็นผู้ที่เคยกระทำผิดซ้ำในคดีเดียวกัน จำนวน 153 ราย ซึ่งกรมคุมประพฤติจะประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุราเตรียมส่งต่อเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟู ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดกรองว่ามีความเสี่ยงในการติดสุราระดับกลางหรือระดับต่ำ จะจัดให้ทำงานบริการสังคมและรับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและการลดเลิกแอลกอฮอล์ สำหรับ สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติแบ่งตามแต่ละภาค เช่น ภาคเหนือ จำนวน 951 คดี มากที่สุด จ.เชียงราย 331 คดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5,175 คดี มากที่สุด จ.มหาสารคาม จำนวน 565 คดี ภาคกลาง จำนวน 1,879 คดี มากที่สุด จ.ปทุมธานี จำนวน 188 คดี ภาคตะวันออก จำนวน 1,020 คดี มากที่สุด จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 207 คดี ภาคตะวันตก จำนวน 219 คดี มากที่สุด จ.ตาก 67 คดี ภาคใต้ จำนวน 335 คดี มากที่สุด จ.พัทลุง จำนวน 84 คดี และ จังหวัดที่มีสถิติสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมาหนคร 567 คดี มหาสารคาม 565 คดี สกลนคร 544 คดี โดยส่วนใหญ่ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อบรมระเบียบวินัยจราจร พักการใช้ใบอนุญาตขับรถ ระยะเวลา 6 เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด ห้ามออกจากบ้านตามช่วงเวลากำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัว เป็นต้น ส่วนผู้ถูกคุมความประพฤติส่วนใหญ่ คิดเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 97.23 เพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 2.77 โดยช่วงอายุน้อยกว่า 20 ปี 595 ราย , อายุ 21-30 ปี 2,378 ราย , อายุ 31-40 ปี 2,340 ราย , อายุ 41-50 ปี 1,985 ราย , อายุ 51-60 ปี 888 ราย , อายุมากกว่า 60 ปี 213 ราย และ ไม่ระบุอายุ 1,054 ราย ส่วนอาชีพที่มีการกระทำผิด อาทิ อาชีพรับจ้าง 3,436 ราย เกษตรกร 823 ราย พนักงานบริษัท รัฐวิสาหกิจ 772 ราย ค้าขาย 333 ราย นักเรียนนักศึกษา 200 ราย และ ข้าราชการ 160 ราย นอกจากนี้ ในจำนวนทั้งสิ้น 9,453 คดี ศาลยังมีคำสั่งสืบเสาะประวัติผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวน 66 คดี ซึ่งพบว่าเคยทำความผิดขับรถประมาท (เป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต และอื่นๆ) จำนวน 43 คดี ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 16 คดี ขับเสพ จำนวน 3 คดี และตามพ.ร.บ.จราจรทางบกอื่นๆ จำนวน 4 คดี ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) จำนวน 80 ราย และ มีคนทำกระทำผิดเพิ่มเติมนอกเหนือกรอบเวลา 7 วันอันตราย อีก 36 ราย รวมทั้งหมดเป็น 116 ราย แบ่ง เพศชาย 110 ราย เพศหญิง 6 ราย มีกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่อยู่อาศัยของตน ช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. ระยะเวลา 15 วัน โดยขณะนี้พบว่า มีผู้กระทำผิดคดีขับรถขณะเมาสุราในจังหวัดกรุงเทพฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จำนวน 1 ราย ออกจากที่พักในเวลาที่ห้ามออก ซึ่งสำนักงานคุมประพฤติได้รายงานศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป ส่วนจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 59 ราย , ขอนแก่น 33 ราย , บุรีรัมย์ 12 ราย , ราชบุรี 4 ราย , สุโขทัย 3 ราย , เพชรบูรณ์ 3 ราย , ระยอง 1 ราย และ นนทบุรี 1 ราย ด้าน นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบ นโยบายการคัดกรองและบำบัดรักษาสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดเป็นผู้ขับขี่ที่เมาสุรา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 ภายใต้โครงการนำร่อง “บำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ดื่มแล้วขับ ถูกจับ ผิดซ้ำ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562” เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพ โดยกรณีเป็นผู้เสพติดสุราและมีปัญหาซับซ้อนจะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ หากเป็นผู้มีอาการทางจิตรุนแรงจะส่งต่อโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระดับความเสี่ยงสูง หรือผู้ติดสุรารุนแรงและเรื้อรัง สามารถลด ละ เลิกการดื่มสุรา ตลอดจนสุขภาวะดีทั้งกายและใจอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ในเบื้องต้นมีผู้เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล จำนวน 4 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จำนวน 1 ราย โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง จำนวน 1 ราย และ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี จำนวน 2 ราย "ส่วนมาตรการทำงานบริการสังคมตามที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมในสถานพยาบาล ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง เพื่อดำเนินกิจกรรมการกระตุ้นจิตสำนึกและรับทราบถึงความสูญเสียต่างๆ รวมถึงสภาพของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้ง ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ใช้ในการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกอีกหลายมาตรการ เช่น การช่วยเหลืองานมูลนิธิร่วมกตัญญู กิจกรรมเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ หรือ ความปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกับองค์กรอื่นๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม"