“มท.1” เข้มใช้กลไกกฎหมายคุมความสงบประชามติยาว 7 ส.ค. ชี้สถานการณ์ล่าสุดไร้รุนแรง แนะปชช.ใช้สิทธิฟรีโหวตยึดหลักปชต. “ปลัด มท.” ยันรัฐบาลปลดบังเหียนมือไม้ “กำนัน-ผญบ.-อปท.” ไม่ใช่เครื่องมือการเมือง เสนาบดีใหญ่ “อนุพงษ์” ใช้สิทธิเขตทวีวัฒนา เพื่อนรักคณะเรา“สุธี” โหวตเสียงเขตจตุจักร 1 ส.ค. 59 – ที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวกลุ่มป่วนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติ 7 ส.ค.59 ว่า สำหรับส่วนกลาง ทางปลัดมท. ได้สั่งการแบ่งพื้นที่ 4 ภาค ให้รองปลัด ผู้ตรวจราชการกระทรวง รวมถึงกรมในสังกัด ติดตามสถานการณ์ และเรื่องราวต่างๆในจังหวัด ขณะที่ส่วนภูมิภาค จะสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญทุกจังหวัด ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 4 ส.ค.นี้ นอกจากนี้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดจะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ และท้องถิ่น ร่วมติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว จับตาการสร้างสถานการณ์ รวมถึงบุคคลที่พยายามสร้างความสับสนต้องการไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ แล้วใช้กลไกทางกฎหมายประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลความสงบเรียบร้อยไปจนถึงวันลงประชามติ “ทราบมาว่า มีกลุ่มป่วน ไปพ่นสีอะไรต่างๆ ถ้าดำเนินการได้ตามกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการ ผมอยากเรียนไปยังประชาชนว่าสิทธิของเราที่จะพิจารณาเป็นสิทธิของเราโดยตรงไม่ว่าใครทั้งสิ้น คงจะไม่สมควรที่จะมาบอกว่า ให้เราต้องมติยังไง ผมอยากให้การลงประชามติเป็นการใช้วิจารณญาณ ความรู้ของตัวเอง ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ผมคิดว่า มันน่าจะเป็นประชาธิปไตย เป็นสิทธิส่วนตัวที่ควรจะได้” รมว.มหาดไทย กล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึง ภาพรวมในการจัดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญทุกจังหวัดว่า คงจะดี ยืนยันว่า การจัดเวทีดังกล่าวในด้านเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องของ กกต.โดยตรง กระทรวงมหาดไทยจะให้การสนับสนุนทุกจังหวัดในการดำเนินการ ส่วนศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพ.ร.บ.ประชามติ 2559 ระดับจังหวัด และอำเภอจะมีการเชื่อมโยงกันทุกจังหวัด เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไป เป็นหน้าที่ของมหาดไทย แต่ภายในคูหาออกเสียงจะเป็นหน้าที่ของ กกต. ถือเป็นคนละเรื่องกัน “จนถึงขณะนี้เท่าที่ผมรับรายงานล่าสุด ยังไม่พบมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นอกจากมีความพยายามฉีกบัญชีรายชื่อบ้างเล็กๆน้อยๆ ไม่มีที่รุนแรงกว่านี้ ยังไงก็ตาม ผมจะหารือกับทางปลัดมท.เพิ่มเติม เพื่อกำชับไปยังกลไกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้ช่วยกันดูแลความเรียบร้อยให้มากกว่านี้ หากมีความคืบหน้า หรือเหตุการณ์ใดๆในพื้นที่ผมจะมาแจ้งให้ทราบ” รมว.มหาดไทย กล่าว ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างค่านิยมของคนไทยและการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมด้วยผู้ว่าฯสระแก้ว ผู้บริหารในจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร อปท. และประชาชน เข้าร่วม 1,500 คน ที่ศูนย์ราชการจังหวัดสระแก้วว่า ขอเชิญชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกไปใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติพร้อมกัน ทางนายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้จะไม่ใช้ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่จะใช้กลไกเหล่านี้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามกฎหมายกำหนด “ผมขอยืนยัน ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ในการลงประชามติ วันที่ 7 ส.ค.นี้ รับรองจะไม่มีการยุบ อบจ. อบต. เทศบาล กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน แน่นอน” ปลัดมท. กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกต. ได้เผยแพร่รายชื่อบุคคลสำคัญที่เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) นักการเมือง ตลอดจนผู้มีชื่อเสียงในแขนงต่างๆ โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ รมว.มหาดไทย มีรายชื่ออยู่ที่สำนักงานเขตทวีวัฒนา หน่วยออกเสียงที่ 42 ศาลาธรรมสพน์ บริเวณเต็นท์ลานกีฬาหมู่บ้านพระปิ่น 2 ซอยบรมราชชนนี 70 แยก 6 ส่วนนายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทยมีรายชื่ออยู่ที่สำนักงานเขตจตุจักร หน่วยออกเสียงที่ 29 แขวงจันทรเกษม บริเวณเต็นท์ลานจอดรถประตู 6 กรมส่งเสริมการส่งออก