"กฤษฏา” สั่งด่วนให้ผู้บริหารทุกกรม ปรับวิธีทำงานให้เป็นเอกภาพ ลงทุกพื้นที่สำรวจเกษตรกร ภาคใต้ ประสบความเสียหายจากพายุ “ปาบึก” อย่างรวดเร็ว กระชับ ตรงจุด ทันการณ์ พร้อมแผนฟื้นฟูอาชีพให้ชัดเจนครอบคลุมทุกมิติ วันนี้ (6 ม.ค.62) นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการทางไลน์ด่วนที่สุดเรื่อง การสำรวจความเสียหายและการปรับปรุงรายงานการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ปาบึก โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ทุกระดับ หลังจากได้เกิดเหตุพายุ ปาบึก พัดผ่านจังหวัดภาคใต้ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าวโดยมีข้าราชการและหน่วยงานกษ.ได้เริ่มลงไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรและเฝ้าระวังป้องกัน ตั้งแต่เกิดก่อนเหตุจนถึงปัจจุบัน ด้วยความมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง ทำให้ลดความเสียหายได้ระดับหนึ่งแล้วนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ จึงให้หน่วยงานสังกัด กษ.แต่งตั้งคณะทำงานสำรวจความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรประจำพื้นที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ๆได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกโดยให้มีตัวแทนของหน่วยงานแต่ละกรมในสังกัด กษ.ที่ปฎิบัติงานในพื้นที่มาประกอบกำลังกันให้เกิดเอกภาพ หากกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณงานให้อธิบดีแต่ละกรมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่จากจังหวัดที่ไม่ประสบภัยหรือส่วนกลางลงไปช่วยเหลือคณะทำงานในพื้นที่โดยด่วน อย่าให้ชักช้าจนเสียการ ทั้งนี้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดในฐานะเลขานุการ อพก.เป็นหน่วยประสานงานระหว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด และผอ.กองบัญชาการบรรเทาสาธารณภัยปภ.จังหวัดกับหน่วยปฎิบัติอื่นๆให้รับทราบการปฎิบัติงานของหน่วยงาน กษ.ในพื้นที่เป็นระยะๆ ด้วย นายกฤษฏา กล่าวว่า ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความกระชับในการรายงานผลการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งจะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน จึงขอให้ปรับปรุงการสรุปรายงานการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพายุ ปาบึก ให้ชัดเจนตามลำดับทั้งการบรรยายสรุปโดยวาจาและหรือการเขียนรายงานเป็นเอกสาร ดังนี้ 1.เมื่อไหร่เกิดอะไรขึ้นที่ไหนและปรากฎความเสียหายที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรในแต่ละด้านอะไรบ้าง(พืช/ปศุสัตว์/ประมง)และกรมชลประทานได้บริหารจัดการนำ้ในพื้นที่เกิดเหตุอย่างไรที่ไหนบ้างและผลเป็นอย่างไร ทั้งนี้ อย่าลืม การรายงานผลการช่วยเหลือชาวสวนยางซึ่งมีระเบียบการช่วยเหลือแยกต่างหากจากพืชทั่วไปของ กยท.ด้วย 2.ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบตามข้อ 1 ระเบียบฯกำหนดไว้ว่าอย่างไรมีขั้นตอนการดำเนินงาน/พิจารณาอย่างไรบ้าง 3.สรุปผลการช่วยเหลือเมื่อไหร่ได้เยียวยา/ช่วยเหลืออะไรไปแล้วบ้างคงค้างเรื่องอะไร 4.กรณีผู้ปฎิบัติหรือหน่วยปฎิบัติในพื้นที่ จะเสนอความเห็นด้วยก็ได้ในฐานะผู้ปฎิบัติว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐควรช่วยเหลือ/เยียวยาอะไรเป็นพิเศษหรือไม่เพราะเหตุใด/หรือควรแก้ไขระเบียบหรือลดขั้นตอนตรงไหนบ้างเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นต้น