นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าในวันที่ 7 สค.ในเวลา 16.00 น. หลังจากที่สมาชิก กรธ.ทุกคนได้ลงคะแนนประชามติกันแล้ว กรธ.จะมีการนัดเจอกันเพื่อไปดูหน่วยประชามติที่ใกล้รัฐสภาว่าจะมีการนับคะแนนอย่างไร สำหรับแนวโน้มสถานการณ์นั้น กรธ.จะพยายามให้ประชาชนทุกคนได้เห็นในเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด ที่ผ่านมากรธ.ได้หารือถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไปไม่ถึงในบางพื้นที่แล้ว และกระทรวงมหาดไทยก็ได้อาสาจะช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่ามีตั้ง 40 ล้านครอบครัวก็คงมีตกหล่อนบ้าง แม้แต่ญาติของตนซึ่งได้รับใบแจ้งว่าเป็นผู้มีสิทธิลงประชามติก็ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ก็คงต้องแจ้งเรื่องที่เขตให้ดำเนินการกันต่อไป เมื่อถามว่าความเห็นจากแกนนำพรรคการเมืองที่ออกมาจะมีผลต่อคะแนนประชามติหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าเดาได้ยากว่าจะมีผลหรือไม่ แต่ตนสังเกตว่าคนในยุคปัจจุบันมีช่องทางรับรู้ข่าวสารมากขึ้น และสามารถทำหน้าที่สื่อระหว่างกันเองไม่แพ้สื่อมวลชนกระแสหลัก ดังนั้นอย่าไปประมาทความรู้สึกนึกคิดของประชาชนตรงนี้เพราะเขาไม่เดินตามใครได้ง่ายๆ ดังนั้นทุกอย่างต้องรอดูหลังจาก 16.00 น. เมื่อถามถึงความเห็นว่าตอนนี้มีการสร้างวาทกรรมกันมากขึ้นเรื่อยๆ นายมีชัยกล่าวว่าไม่ใช่แค่สร้างวาทกรรมอย่างเดียว แต่สร้างสิ่งที่ทำให้เกิดความสงสัย ในเชิงหลอกลงกับประชาชน อาทิ อยู่ๆก็ยกบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติ หรือไม่พระราชทานพระราชบัญญัติคืนมา ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินั้นได้เลย เขาก็มากล่าวหาว่าเนื้อหาส่วนนี้ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดพระราชอำนาจ ตนขอเรียนว่าไม่จริงเพราะนี่คือระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระมหากษัตริย์จะมีอำนาจวีโต้ แต่ไม่มีโดยเบ็ดเสร็จ ซึ่งหลักการนี้ถูกบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว อาจจะมีการเปลี่นแปลงข้อความตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปแต่เนื้อหาก็ยังคงเดิม นายมีชัยกล่าวต่อว่าคนที่บิดเบือนเรื่องเหล่านี้นั้นใจร้าย หลอกลวงประชาชนที่เขาไม่ค่อยได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแต่ไหนแต่ไร คงไม่ค่อยมีใครอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้กลไกในการปราบโกงอ่อนแอลง ตนขอถามว่าทำให้กลไกปราบโกงอ่อนแอตรงไหน ที่ผ่านมานั้นนักการเมืองรวมไปถึงอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ยังมาต่อว่าว่า กรธ.จงใจเขียนเนื้อหาเพื่อเล่นงานนักการเมือง ซึ่งตนขอเรียนว่าไม่ใช่ เพราะ ป.ป.ช.ยังอยู่ และมีอำนาจปราบข้าราชการมากขึ้น ไม่ใช่แค่ปราบนักการเมืองเพียงอย่างเดียว นายมีชัยกล่าวต่อว่าส่วนเรื่องการอุทธรณ์ในคดีทุจริตในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นตนขอเรียนที่มาที่ไปว่ามาจากความตกลงระหว่างประเทศที่ทำกันมาในปี 2539 ใช้ต่อมาถึง 2540 ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ออกมา เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เริ่มเขียนให้ทำท่าเหมือนอุทธรณ์ได้ แต่ความจริงไม่ใช่การอุทธรณ์ เพราะต้องหาพยานหลักฐานใหม่เพื่อให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม พอมาถึงร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ในร่างแรก กรธ.ก็เขียนว่าอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมาย ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)ก็ยื่นข้อเสนอมาว่าขอแก้ตรงนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยพิจารณาได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอเรียนว่าการบัญญัติแบบนี้นั้นไม่ได้คิดจะเล่นงานใครโดยเฉพาะเจาะจง แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ร่างรัฐธรรมฉบับนี้ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นายมีชัยกล่าวต่อว่าสำหรับรัฐธรรมนูญในปี 2550 ก็มีหลายคดีที่ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่ผิด ก็หงายหลังกันเลย เพราะคนทั่วไปก็รู้สึกว่าน่าจะผิด คราวนี้ กรธ.จึงเขียนว่าให้สามารถอุทธรณ์ได้ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านมาศาลฎีกาเห็นว่าหลักฐานอ่อนก็ยกประโยชน์ให้จำเลย เรามีสิทธิ์อุทธรณ์ได้เพื่อให้พิจารณาได้อีกชั้นศาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นไปตามระบบยุติธรรมตามหลักสากลที่เราไปเซ็นกับเขาไว้ ซึ่ง กรธ.ได้นึกถึงตอนร่างรัฐธรรมนูญ “อย่านึกว่าคนที่เราไม่ชอบจะเป็นพวกเดียวที่ไปสู่ศาล วันดีคืนดี คนที่เราชอบ ก็อาจจะไปที่ศาลนั้นได้เหมือนกัน ทุกคนในยังอยู่ในวงการการเมือง ว่ามีโอกาสไปสู่ศาลนั้นได้ทั้งนั้นถึงวันนั้นอาจจะนั่งนึกขอบคุณ กรธ.ว่าได้คิดมาไกลเผื่อเขา” เมื่อถามว่าท่าทีต่อพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นผลร้ายต่อการลงคะแนนออกเสียงปรามติหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าเชื่อว่าประชาชนตัดสินบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ประชาชนต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้บังคับใช้กับประชาชนอย่างเดียว แต่บังคับใช้กับนักการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะเชื่อนักการเมืองเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเนื้อหาก็อาจจะอันตรายได้ เพราะนักการเมืองถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับร่างรัฐธรรมนูญด้วย นายมีชัยกล่าวต่อว่าตนไม่เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต ถ้าหากทุกฝ่ายคิดอ่อนตรงกันว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เขาก็สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เมื่อถามว่าในการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ คิดว่าส่วนต่างของคะแนนเกินเท่าไร ถึงจะสบายใจได้ นายมีชัยกล่าวว่ายังมาไม่ถึง อย่าเพิ่งไปคิดถึง ควรจะสบายใจเสียตั้งแต่ตอนนี้เลย เมื่อ กรธ.เอาร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนลงคะแนนจะออกมาอย่างไรก็ควรสบายใจ เกิดอะไรก็ต้องทำใจเพราะประชาชนได้ตัดสินใจแล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับนักการเมืองได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าที่ผู้สื่อข่าวพูดมาก็ดี แต่ว่าอย่าพูดเลย มันจะทำให้บ้านเมืองแตกแยก