ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (3 ม.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 57,510 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 33,580 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,493 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 10,797 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็มีบางแห่งที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย อาทิ อ่างเก็บน้ำทับเสลา และอ่างเก็บน้ำกระเสียว ต้องสงวนน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และจัดสรรน้ำตามความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น ส่วนสภาพน้ำท่าในแม่น้ำ สายหลักต่างๆทั่วประเทศส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำน้อย ต้องอาศัยการระบายจากเขื่อนเพื่อรักษาระบบนิเวศ ในส่วนของค่าความเค็มในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตรวจสอบและรักษาคุณภาพของน้ำในการอุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปา สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย.61–30 เม.ย.62) ได้มีการจัดสรรน้ำตามแผนการใช้น้ำฤดูแล้งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ รวมกันทั้งสิ้น 23,100 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนการจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ)รวมประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,300 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 700 ล้านลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 ทั้งประเทศ ปัจจุบัน(3 ม.ค. 62) มีจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนฯทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 2,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผนฯ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 200 คัน กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทั่วประเทศ พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย