อธิบดีกรมการแพทย์ เผยมาตรการสำคัญให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ปลอดขยะพลาสติก ดีเดย์โครงการรับปีใหม่ 2562 โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในสังกัดทุกแห่ง หันมาใช้ปิ่นโต กล่องข้าวและแก้วน้ำส่วนตัวแทนการใช้พลาสติกบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี วันที่ 4 ม.ค.2562 ที่ห้องประชุมแสงสิงแก้ว อาคาร 1 ชั้น 1 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว “กรมการแพทย์ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม (DMS : plastic-free initiation)” ว่า ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาสำคัญของโลกและประเทศไทย โดยสาเหตุของปัญหาโลกร้อนและมลภาวะ ร้อยละ 90 มาจากการที่เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป จนความร้อนจากพื้นโลกไม่สามารถสะท้อนออกนอกโลกได้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศรวมไปถึงมลพิษต่างๆ ซึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวคือถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารและสินค้า เนื่องจากถุงพลาสติกผลิตจากเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบในการผลิต สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว ในปริมาณมากและต้นทุนต่ำ เมื่อนำมาใช้จะมีอายุการใช้งานสั้นและส่วนใหญ่เป็นการใช้เพียงครั้งเดียว และเนื่องจากถุงพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ในระเวลาอันสั้น ต้องใช้เวลากว่า 450 ปี ในการย่อยสลาย จึงส่งผลให้เกิดขยะจำนวนมากที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อสุขภาพของประชาชน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องโลกใบนี้ จึงมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งดำเนินมาตรการ “กรมการแพทย์ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นการรณรงค์และส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถาบัน และหน่วยงานต่างๆดำเนินมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน และสร้างจิตสำนึกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า กรมการแพทย์ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆในสังกัด ได้รณรงค์จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง อาทิ สื่อ Social Media Website ของหน่วยงาน VTR แผ่นพับ โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ โดยขอความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ร่วมปฏิบัติตามแนวทางลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติกและกล่องโฟมบรรจุอาหาร โดยหันมาใช้ถุงผ้าบรรจุสินค้าอุปโภคบริโภค นำปิ่นโต กล่องข้าวใส่อาหาร นำแก้วน้ำส่วนตัวมาใช้แทนขวดพลาสติกรวมถึงการจัดประชุมภายในหน่วยงานด้วย ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าให้ความร่วมมือด้วยการลดค่าอาหารและเครื่องดื่ม หากนำภาชนะบรรจุมารับบริการ งดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร นอกจากนี้ยังมีมาตรการคัดแยกขยะในหน่วยงาน โดยจะมีการแบ่งประเภทของถังขยะออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย อาทิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มีการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดรู้จักการคัดแยกขยะเพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและสามารถนำขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีมาตรการสำคัญในการลดถุงพลาสติกหูหิ้วที่กรมการแพทย์ได้ดำเนินการไปแล้วคือโครงการพกถุงผ้าใส่ยากลับบ้าน โดยโรงพยาบาลและสถาบันต่างๆของกรมการแพทย์ ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว100 % ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันปัญหาจากสิ่งแวดล้อมและกรมการแพทย์ได้ดำเนินมาตรการสำคัญต่อมาโดยจะเป็นหน่วยงานที่ปลอดจากขยะพลาสติก 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่เข้ามารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์นำถุงผ้าหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ใส่ของมาจากบ้านเพื่อใช้ใส่ยากลับบ้านแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว เพื่อเป็นการร่วมกันทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยจากสิ่งแวดล้อม