นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), ทหาร, ตำรวจ และท้องถิ่น ดูแลอำนวยความสะดวกและปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงจุดหมายปลายทาง ตามมาตรการ 777 ของกระทรวงคมนาคม ภายใต้แนวคิด One Transport โดยเฉพาะในช่วง 7 วัน ระหว่างเทศกาลปีใหม่ วันที่ 27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยมีมาตรการสำคัญคือการตรวจเข้มข้นรถโดยสารและพนักงานขับรถที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดทั่วประเทศทั้งหมด 196 แห่ง ตรวจเข้มข้นรถโดยสารและพนักงานขับรถ รวม 132,813 คัน แบ่งเป็นรถหมวด 2 (กรุงเทพ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง) จำนวน 63,894 คัน และรถหมวด 3 (เส้นทางระหว่างจังหวัด) จำนวน 68,919 คัน พบรถโดยสารไม่พร้อมให้บริการจำนวน 7 คัน โดยได้สั่งพ่นห้ามใช้รถทันทีจำนวน 1 คัน เนื่องจากระบบ GPS ไม่ทำงาน และสั่งให้เปลี่ยนรถอีกจำนวน 6 คัน ส่วนการตรวจความพร้อมพนักงานขับรถจำนวน 132,813 ราย มีการดำเนินการสั่งเปลี่ยนพนักงานขับรถจำนวน 2 ราย เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลีย ทั้งนี้ จากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่าผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือนำรถโดยสารที่มีมาตรฐานความปลอดภัยมาให้บริการประชาชน รวมถึงพนักงานขับรถมีความตระหนักและมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ขับรถอย่างปลอดภัย ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุที่มีรถโดยสารสาธารณะเป็นต้นเหตุลดลงเหลือ 5 ครั้ง โดยสาเหตุไม่ได้เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีผู้โดยสารที่มากับรถโดยสารสาธารณะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการเชิงป้องกันเข้มข้นจริงจัง ตามที่กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล มุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการตรวจรถโดยสารและพนักงานขับรถมาตั้งแต่ก่อนเทศกาล วันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2561 วันที่ 20 – 26 ธันวาคม 2561 และการดำเนินการเข้มข้นช่วงเทศกาลวันที่ 27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 และจุด Checkpoint ระหว่างทางบนถนนสายหลัก 17 จังหวัด 18 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก ลำปาง ตาก ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา (2 แห่ง) อุดรธานี ร้อยเอ็ด ชัยนาท ระยอง ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และสงขลา นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกยังได้มอบอุปกรณ์ป้องกันการหลับในให้กับพนักงานขับรถ ซึ่งจะมีเสียงเตือนเมื่อมีอาการสัปหงกศีรษะเอียงมาด้านหน้า ทำให้รู้สึกตัวก่อนและไม่เกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก โดยศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ส่วนกลางและศูนย์ฯ GPS แต่ละจังหวัด ติดตามรถโดยสารทุกคันผ่านระบบ GPS Tracking ตลอด 24 ชั่วโมง และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและยับยั้งพฤติกรรมเสี่ยงทันที ตลอดจนประชาชนสามารถติดตามรถโดยสารที่ใช้บริการทุกคัน ผ่านแอปพลิเคชัน DLT GPS และจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ใช้บริการภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารให้เข้าถึงบริการและการดูแลจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังจัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัย (Transport Safety Manager) ทำหน้าที่บริหารจัดการ ตรวจสอบความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน รวม 5 ด้าน ได้แก่ รถ พนักงานขับรถ การเดินรถ การบรรทุก/การโดยสาร และการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย เพื่อร่วมป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยส่งเสริมให้การขนส่งทางถนนของประเทศไทยมีมาตรฐานอย่างยั่งยืน