บล.ไทยพาณิชย์เห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกพลิกกลับมาหนุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ เมื่อเศรษฐกิจมะกันชะลอตัวลงจากฐานสูงในปี 2561 ตามแรงส่งจากมาตรการลดภาษีที่ค่อยๆหมดไป แต่ภาพรวมยังแกร่งพอจะหนุนบรรยากาศ risk-on ให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เชื่อหุ้นไทยทะยานตั้งแต่ไตรมาสแรก SET จะปรับตัวขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจาก GDP ที่ขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย กำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียน และ Valuation ที่น่าสนใจ โดยอิง fwd PE ที่ 15.5 เท่า แนะลงทุนกลุ่มธุรกิจหมู-ทูน่า-นิคมอุตสาหกรรมและธนาคาร นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)เปิดเผยว่า กระแสการลงทุนเปลี่ยนทิศ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดดเด่นในปี 2561 จะลดความร้อนแรงลง คาดนักลงทุนเปลี่ยนมาสนใจตลาดเกิดใหม่แทน หลังความเสี่ยงฟองสบู่ลดลง คาดสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลดอลลาร์หยุดแข็งค่า ซึ่งดีต่อหุ้นตลาดเกิดใหม่ด้วย ส่วนช่องว่างการเติบโตที่แคบลงระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับตลาดเกิดใหม่จะดึงดูดให้กระแสเงินทุนเปลี่ยนทิศมาทางภูมิภาคนี้ด้วย ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจโลก แม้เติบโตในอัตราชะลอตัวลง แต่ก็เป็นการเข้าสู่ระดับค่าเฉลี่ยระยะยาว ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนสงครามการค้า แม้มีผลให้คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกชะลอลงทั้งจีนและสหรัฐฯ แต่ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการทั้งหมดทั่วโลกยังอยู่สูงกว่าระดับ 50จุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงบ้าง โดยสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงที่ผ่านมาเป็นการพักฐาน หรือ Correction ในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและการเติบโตของกำไรบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยความกังวลหลักๆ มาจากเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน,ความไม่แน่นอนของข้อตกลง Brexitและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่หลายฝ่ายมองว่าขึ้นมามากเกินไป อย่างไรก็ตามความกังวลเหล่านี้มีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยจีน-สหรัฐฯจะมีการเจรจากันในต้นเดือน ม.ค.นี้ หลังจากสงบศึกการค้าไปก่อนหน้านี้ ส่วนสภาผู้แทนอังกฤษจะมีการลงมติเลือกแนวทาง Brexit ซึ่งจะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่ Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความกังวลต่อความเสี่ยงหลังๆ ลงได้มาก ทำให้ปัจจัยภายนอกที่กดดันตลาดเกิดใหม่ค่อยๆ คลี่คลายลง สำหรับประเทศไทย SCBS มองเศรษฐกิจรับอานิสงค์วัฏจักรการลงทุนขาขึ้น เห็นได้จากผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อจาก ธปท.ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การลงทุนในประเทศฟื้นตัวดีมีแนวโน้มที่จะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงกลุ่มธนาคาร มองไปข้างหน้า ภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อสำหรับไตรมาส 4 ปี 2561 เริ่มเห็นความต้องการสินเชื่อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกๆประเภท ทั้งสินเชื่อระยะยาวและระยะสั้นสำหรับธุรกิจทุกขนาดและสินเชื่อภาคครัวเรือนทุกประเภท ขณะที่กรณีที่ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 1.75% ตามคาดไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.61สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 เดือน ต.ค.และ พ.ย.61 ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในเดือน พ.ย.61จากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และอินเดียที่เติบโตดี และนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัว คาดดอกเบี้ยไทยยังมีโอกาสปรับขึ้นอีก 1-3 ครั้งในปี 2562 ตามมุมมองวัฏจักรการลงทุนและดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุนกลุ่มที่มีแนวโน้มสดใสในปี 2562 ไตรมาสแรกจะมาจาก 2 แนวโน้มหลัก ได้แก่ กลุ่มแรกแนวโน้มที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากช่วงก่อนหน้าได้แก่ วัฎจักรการลงทุนรอบใหม่(กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม)และวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย(กลุ่มธนาคาร) ซึ่งได้รับการยืนยันจาก FDI ที่แข็งแกร่ง อัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้นทะลุ 70% ในเดือน พ.ย.61และสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.และกลุ่มที่สอง ตามแนวโน้มที่กำลังมาใหม่คือ วัฎจักรอุณภูมิน้ำทะเลซึ่ง NOAA ของสหรัฐฯมองว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะ El Nino อ่อนๆ ซึ่งมักส่งผลดีต่อต้นทุนปลาทูน่าจะมีราคาถูกลงขณะที่ส่งผลให้ราคาหมูเพิ่มขึ้น ดังนั้นธีมการลงทุนในไตรมาสแรกปี 2562 หุ้น top picks กลุ่มที่น่าจับตามองได้แก่ กลุ่มธุรกิจหมูและธุรกิจทูน่า (CPF TU) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (ROJNA WHA)และกลุ่มธนาคาร (BBL KTB) CPF:กำไรจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากราคาหมูที่สูงขึ้นในเวียดนามและไทย หุ้น CPF ซื้อขายในระดับต่ำที่มูลค่าตลาดของเงินลงทุนใน CPALL TU:กำไรจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2561 และปี 2562 จากต้นทุนทูน่าระดับต่ำ การปรับราคาผลิตภัณฑ์และเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งยังไม่สะท้อนในราคาหุ้น ROJNA:บริษัทเร่งซื้อที่ดิน (โดยเฉพาะที่ดินในพื้นที่ EEC) เพื่อสร้างรากฐานสำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต valuation (PBV)น่าสนใจและให้ตอบแทนจากเงินปันผลสูง WHA:แนวโน้มเป็นบวกโดยได้รับปัจจัยหนุนจากพอร์ตคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปขนาดใหญ่ ยอดขายรอรับรู้รายได้สูง กำไรใน 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ CAGR 16% BBL:สินเชื่อจะขยายตัวมากขึ้นและผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อจะดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากวัฎจักรการลงทุนมีโอกาสดีที่สุดที่ ROE จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนวัฎจักร NPL KTB:การปรับพอร์ตสินเชื่อจะเปิดโอกาสให้ตั้งสำรองลดลง ได้ประโยชน์จากวัฎจักรการลงทุนที่เร่งตัวขึ้นและกำไรพิเศษจาก AQ