ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) เป็นหน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค มีบทบาทภารกิจในการสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบนพื้นที่สูง โดยการนำเอาองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสมและประสบผลสำเร็จจากโครงการหลวงไปขยายผลสู่เกษตรกรชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูง เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพการเกษตรบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่ นิยมปลูกพืชผักเมืองหนาว เป็นพืชหลัก โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตรบนที่สูงของชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่กลับได้รับผลกระทบในเรื่องของราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ประกอบกับต้องใช้เวลาในการดูแลรักษา และมีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีผลเสียต่อร่างกายและผู้บริโภค รวมถึงต้องเตรียมการปลูกตลอดปี ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ (เกษตรที่สูง) จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี การปลูก “อะโวคาโด” ทดแทนการปลูกพืชผักเมืองหนาว เนื่องจากเห็นว่า การปลูกอะโวคาโด น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีการลงทุนที่สูงครั้งเดียว สามารถให้ผลตอบแทนในระยะยาว ตลาดยังมีความต้องการจำนวนมาก ขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวไม่ยุ่งยาก ประหยัดแรงงานในการเก็บเกี่ยว ดูแลรักษาง่าย สามารถปลูกพืชล้มลุกที่สร้างรายได้แซมได้ในระยะแรก ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการใช้สารเคมี นอกจากนั้นในระยะที่อะโวคาโดยังไม่ให้ผลผลิต สามารถปลูกพืชอายุสั้นให้ผลตอบแทนเร็วในระหว่างต้นของแถวอะโวคาโดได้ นายศราวุฒิ เลาว้าง เกษตรกรชนเผ่าม้ง ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งเกษตรกรต้นแบบ ที่ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเมืองหนาว หันมาปลูกอะโวคาโดแทน ได้เล่าว่า ปี 2555 หลังจากเข้ารับการฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ จากศูนย์ฯ เกษตรที่สูง จังหวัดเชียงใหม่แล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้ให้การสนับสนุนต้นกล้าอะโวคาโด จำนวน 50 ต้น และนำไปปลูกในพื้นที่ จำนวน 2 ไร่ๆ ละ 25 ต้น ระยะปลูก 8 x 8 เมตร ต่อมา ปี 2557 ได้ทำการเสียบยอดต้นตอจากพันธุ์พื้นเมืองทั่วไปให้เป็นพันธุ์ดี ซึ่งได้รับยอดพันธุ์ดีจากศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ พร้อมฝึกทักษะการเสียบยอดให้ จึงเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดี จำนวน 5 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ปีเตอร์สัน บัคคาเนีย บูช 8 พิงเดอร์ตัน และพันธุ์แฮส อย่างละ 10 ต้น โดยผลผลิตอะโวคาโด ที่ได้รับช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่าย มากกว่า 40,450 บาท โดยแยกเป็น 1.พันธุ์ปีเตอร์สัน ได้ผลผลิต 300 กิโลกรัม 2.พันธุ์บัคคาเนีย ได้ผลผลิต 320 กิโลกรัม 3.พันธุ์บูช8 ได้ผลผลิต 220 กิโลกรัม 4.พันธุ์พิงเคอร์ตัน ได้ผลผลิต 100 กิโลกรัม และ5.พันธุ์แฮส ได้รับผลผลิต 150 กิโลกรัม สำหารับราคาในการจำหน่ายพันธุ์ปีเตอร์สัน บัคคาเนีย และบูช 8 ราคาตลาดทั่วไป กิโลกรัมละ 20-25 บาท ราคาตลาดโครงการหลวง กิโลกรัมละ 25-40 บาท ส่วนพันธุ์พิงเดอร์ตัน ราคาตลาดทั่วไป กิโลกรัมละ 40 บาท ราคาตลาดโครงการหลวง กิโลกรัมละ 50 บาท ขณะที่พันธุ์แฮส ราคาตลาดทั่วไป กิโลกรัมละ 70 บาท ราคาตลาดโครงการหลวง กิโลกรัมละ 80 บาท อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกให้เต็มพื้นที่หรือจัดหาพื้นที่อื่นเพิ่มเติม เพาะกล้าจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจ หรือเพาะกล้าพร้อมเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีแล้วจำหน่าย ซึ่งทำให้ได้ผลตอบแทนสูง