ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ซึ่งอาจจะก้าวเป็นที่ 1 ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ เช่น ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ โดยเฉพาะวันหยุดปีใหม่และวันสงกรานต์ เป็นช่วงที่พี่น้องชาวไทยเดินทางเพื่อท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา หรือสังสรรค์รื่นเริงต่างๆ จึงเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด แม้จะมีการประกาศ “7วันอันตราย” มีการบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการสกัดนักดื่มที่หากเมาจะโดนทั้ง “จับ ปรับ ติดคุก” แต่จากสถิติพบว่าจำนวนอุบัติเหตุไม่ได้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ที่ ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี เคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดงของการเกิดอุบัติเหตุของ จ.อุดรธานี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากกายภาพของเขตเทศบาลตำบลนาข่า มีถนนมิตรภาพพาดผ่านประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางหลักสู่ จ.หนองคาย และ สปป.ลาว มีตลาดผ้าชื่อดังอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปยังคำชะโนดได้อีกด้วย ทำให้มีรถสัญจรมาก โดยเฉพาะช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์จะมีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก บางคนอาจจะไม่ชำนาญเส้นทางหรือสภาพแวดล้อมชุมชน เมื่อมีการสัญจรมากก็เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการ และประชาชน ได้พยายามหาทางออกร่วมกันว่าจะลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ได้อย่างไร จนกระทั่งเกิดเป็นการลงนามความร่วมมือของทั้ง 4 องค์กร ขณะเดียวกันได้เข้าร่วมขับเคลื่อนในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุ หรือ “ลดเมา เพิ่มสุข” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน แกนหลักสำคัญอย่างเทศบาลตำบลนาข่า จึงได้ดำเนินแนวทาง “4 สร้าง 1 พัฒนา” เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว เริ่มจากการสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รวบรวมทุกพื้นที่ พบว่า การดื่มสุราเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงได้มีแนวปฏิบัติ 4 สร้าง คือ สร้างคนต้นแบบทั้ง 3 ระดับ คือ ผู้นำชุมชน เยาวชน และครอบครัว สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน สร้างมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างเส้นทางปลอดภัย ขณะเดียวกันพัฒนาความร่วมมือใน 4 องค์กรหลัก เพื่อลดเมา เพิ่มสุข ให้ได้ นายสุพรรณ ชัยมี นายสุพรรณ ชัยมี นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า กล่าวว่า ทางเทศบาลสนับสนุนการใช้ข้อมูลและกลไกต่างๆ ในพื้นที่เข้าไปจัดการ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) ซึ่งช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพอย่างมาก พร้อมๆ กันนี้ยังได้สนับสนุนให้ชุมชนตั้งกฎ กติกา และลงนามความร่วมมือในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุร่วมกัน จนเกิดเป็นธรรมนูญชุมชนของหมู่บ้าน “เราจัดกิจกรรม ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อย่างงานบุญ ประเพณี ก็ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งเราเชื่อว่ามาตรการที่เราควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุอยู่นี้ได้ผล เพราะจะเห็นว่าจากที่เคยมีผู้เสียชีวิตมาในปีก่อนๆ แต่ปีล่าสุดไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด” นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า กล่าว อย่างไรก็ตามได้ให้แต่ละชุมชนคัดเลือกคนต้นแบบของตำบลในการเลิกดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 40 คน และมีการประกาศเกียรติคุณยกย่องไปแล้ว นายณัฐษพงษ์ มูลพานิชย์ ด้าน นายณัฐษพงษ์ มูลพานิชย์ ผู้อำนวยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนาข่า อธิบายว่า นอกจากการเฝ้าระวังด้วยการตั้งด่านชุมชนซึ่งจะเป็นจุดสกัดนักดื่มที่ชอบขับขี่เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุแล้ว หัวหน้าครอบครัว หรือคนในครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแลคนที่ดื่มให้อยู่กับบ้าน เสมือนเป็นด่านชั้นแรก เพราะถ้าดื่มกินอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหน อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น หรือหากยังรั้นก็ให้ห้ามปราม ยึดรถ ยึดกุญแจ ไม่ให้เมาแล้วขับ หรือหากเราพบเมาแล้วขับ เมื่อมาเจอด่านชุมชนก็จะกักตัว ยึดรถแล้วประสานให้คนในครอบครัวมารับตัว “หากขัดขืนและไม่เชื่อฟัง ทางชุมชนก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ นอกจากนี้สมาชิกของชุมชนทุกคนต้องมาสร้างกติการ่วมกัน โดยเฉพาะการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมการดื่มเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ทาง อสม.จะลงพื้นที่เยี่ยมทุกครัวเรือนเพื่อชี้แจงและให้เซ็นชื่อรับทราบเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ว่าหากเมาแล้วขับจะเจออะไรบ้าง เช่น ยึดรถ กักตัว หรือส่งตำรวจเพื่อดำเนินคดี เป็นธรรมนูญที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามและยอมรับ” ผู้อำนวยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนาข่า กล่าว นางจิตนา สารีบุตร ขณะที่ นางจิตนา สารีบุตร ผู้อำนวยการ รพ.สต.นาข่า เล่าว่า ได้ใช้เครือข่าย อสม. เป็นฟันเฟืองสำคัญในการลงพื้นที่พบปะ พูดคุย ชี้แจงมาตรการต่างๆ เพราะ อสม. มีความใกล้ชิดกับคนในชุมชน ซึ่งทำตั้งแต่การเก็บข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุ แล้วมาตีเป็นมูลค่าความเสียหายให้ทุกคนได้รับทราบว่า พฤติกรรมสุขภาพอย่างเล่นการดื่มแล้วใช้ชีวิตบนท้องถนน หรือเมาแล้วขับ เกี่ยวข้องอุบัติเหตุทางถนนอย่างไร และต้องสูญเสียอะไรไปบ้างหากบุคคลในครอบครัวซึ่งหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว เกิดพิการ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพราะถ้ารณรงค์เมาไม่ขับอย่างเดียว ก็จะเข้าไม่ถึงชาวบ้าน สิ่งสำคัญคือต้องให้ข้อมูลให้ความสำคัญกับชุมชนด้วยการ “เจาะให้ถึงใจ” ว่าทำไมจะต้องมาร่วมมือและตระหนักร่วมกัน จากการทำงานอย่างจริงจังของ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการ และประชาชน ทำให้พื้นที่เทศบาลตำบลนาข่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุดแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี เพราะจากสถิติบ่งชี้ว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่ จ.นาข่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 11 ราย ต่อมาปี 2560 เหลือเพียง 1 ราย และปีล่าสุด 2561 ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว และแน่นอนช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ ชาวนาข่าตั้งเป้าว่าจะต้องไม่มีใครตาย และการเกิดเหตุต้องน้อยกว่า 4 ครั้งใน 7 วัน