กล่าวถึง “ก่อการร้าย” แล้ว ต้องถือเป็นภัยร้ายที่คุกคามสร้างความสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์เรา ถึงขนาดยุคหนึ่งสมัยหนึ่งชาติมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ต้องคลอดมาตรการ ประกาศนโยบาย “ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ออกมาโดยเฉพาะกันเลยทีเดียว การฝึกฝนปฏิบัติการสู้รบของขบวนก่อการร้ายกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างประเทศ บนเวทีนานาชาติทั้งหลาย ในช่วงที่ผ่านมา โต๊ะประชุมก็มักจะหยิบยกปัญหาการก่อการร้ายขึ้นมาหารือในฐานะหนึ่งในประเด็นสำคัญ ใช่แต่เท่านั้น ทางสมาคม หรือสถาบันทางวิชาการ ประเภท “ถังความคิด” หรือ “ธิงค์แธงค์ (Think Tank)” หลายแห่ง ก็ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อการศึกษาวิจัยต่อกรณีการก่อการร้ายขึ้นมาเฉพาะ เช่น สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ สมาคมแห่งชาติเพื่อการศึกษาด้านลัทธิก่อการร้ายและการตอบโต้ ในสหรัฐฯ เป็นอาทิ โดยกลุ่มก่อการร้ายที่สร้างปรากฏการณ์เขย่าขวัญสั่นประสาทแก่ประชาคมโลกไปในหลายภูมิภาคในช่วง 5 ปี หรือตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา ก็เห็นจะไม่มีกลุ่มไหนเกินหน้า “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ไอซิส” ไปได้ ซึ่งมีศูนย์กลางของขบวนการอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือของอิรักคาบเกี่ยวภาคตะวันออกของซีเรีย กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ในซีเรียและอิรัก ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่หวาดผวาแก่ชาวโลก ในฐานะขบวนการก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงระดับแถวหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ขบวนก่อการร้ายไอซิส ฤทธีดูท่าเบาบางลงไป โดยบทรายงาน “ดัชนีลัทธิก่อการร้ายโลก 2018” ซึ่งทาง “สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ” ในสหรัฐฯ จัดทำขึ้นโดยดึงข้อมูลมาจาก “สมาคมแห่งชาติเพื่อการศึกษาด้านลัทธิก่อการร้ายและการตอบโต้” ของสหรัฐฯ เช่นกัน ระบุว่า ปี 2560 ผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกมีอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ27 จากการศึกษาวิจัยใน 163 ประเทศทั่วโลก ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุระเบิดโจมตีกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อช่วงปลายปี 2557 โดยฝีมือของสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ทั้งนี้จำนวนของประเทศดังกล่าว 96 ประเทศ มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น และ 46 ประเทศมีอัตราลดลง แตกต่างจากเมื่อปี 2559 (ค.ศ. 2016) ที่จำนวน 79 ประเทศ เผชิญหน้ากับก่อการร้ายถึงขั้นสูญเสียชีวิตผู้คน โดยตัวเลขของปี 2560 ยังระบุด้วยว่า การเสียชีวิตของผู้คนโดยกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียมีอัตราลดลงถึงร้อยละ 52 จากการที่กลุ่มไอเอส สูญเสียที่มั่นของพวกเขาในพื้นที่คาบเกี่ยวสองประเทศนี้ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ขณะที่ “ยุโรป” ภูมิภาคที่ผู้คนถูกกลุ่มไอเอสเขย่าขวัญกันไปทั่ว ก็มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายโดยกลุ่มไอเอสลดลงเป็นอย่างมากเช่นกัน คือ ร้อยละ 75 เมื่อช่วงปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากทางการของประเทศในยุโรป ออกมาตรการป้องปราม และต่อต้านขบวนการก่อการร้ายได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยมุ่งเน้นไปที่การเฝ้าระวังตรวจการณ์ อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมาก แต่ภัยก่อการร้ายเมื่อปี 2560 ก็สร้างความเสียหายส่งผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ภัยจากการก่อการร้ายจะดูลดน้อยถอยลงไปตามดัชนีข้างต้น แต่ปรากฏว่า โลกของเราก็หาได้อยู่อย่างสงบกันแต่ประการใดไม่ เมื่อปรากฏว่า ภัยคุกคามในชีวิตและทรัพย์สินจากกลุ่มขวาจัด ซึ่งมีแนวคิดแบบสุดโต่ง ก็กลายเป็นภัยมาแทนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาเหนือ มีอัตราความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นกังวล การปะทะกันระหว่างกลุ่มขวาจัดกับกลุ่มอื่นๆ ในเมืองชาร์ลอตต์สวิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐฯ เมื่อช่วงปีก่อน ตามการเปิดเผยของ “สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ” ในสหรัฐฯ ระบุว่า ช่วง 4 ปี คือ ระหว่างปี 2557 – 2560 มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิต 66 ราย กับเหตุโจมตีทำร้ายกันจำนวน 127 ครั้ง ทั้งในแบบลงมือทำกันเป็นกลุ่ม และเป็นรายของบุคคลของพวกขวาจัดที่มีแนวคิดแบบสุดโต่ง ต่อคนที่ต่างเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา และผู้ที่คิดต่าง ทั้งนี้ กระแสของพวกขวาจัดแนวคิดสุดโต่ง ก็ยังสร้างความวิตกกังวลให้แก่หน่วยสอบสวนกลางแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ โดยมีตัวเลขการก่อเหตุเมื่อช่วงปี 2560 แบบก้าวกระโดดในสหรัฐฯ ว่า เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 รวมถึงที่แคนาดา เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงที่ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งจากปีก่อนๆ และถือเป็นโจทย์ใหญ่แก่ทางการประเทศเหล่านี้ ที่จำต้องเร่งแก้ปัญหาให้คลี่คลายกันโดยด่วน การเดินขบวนรณรงค์ต่อต้านกลุ่มขวาจัดในยุโรป