“อินโด – แปซิฟิก” ภูมิภาคที่คาบเกี่ยวมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก สองมหาสมุทรที่มีความสำคัญทั้งต่อภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์การทหารระหว่างประเทศ ด้วยประการฉะนี้ บรรดาชาติมหาอำนาจน้อยใหญ่ จึงต่างหมายช่วงชิงความมีอิทธิพลเป็นนานาประการ ไม่ว่าจะเป็น “สหรัฐอเมริกา” พญาอินทรี ที่ทรงอิทธิพลนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา “รัสเซีย” พญาหมี ที่พยายามหวนทวงคืนอิทธิพลอันเคยมีมาคู่กับสหรัฐฯ สมัยสงครามเย็นอีกครั้ง หลังลดทอนลงในช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซียครั้งอดีต “จีนแผ่นดินใหญ่” พญามังกร ที่ ณ ชั่วโมงนี้ ต้องบอกว่า กลายเป็น พญามังกรผงาดฟ้า เพราะกำลังเบียดแซงหน้ามหาอำนาจเจ้าของพื้นที่เก่าอย่างสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปทุกขณะ นอกจากนี้ ก็ยังมี “ออสเตรเลีย” เจ้าของฉายา “จิงโจ้” และ “อินเดีย” แดนโรตี หรือภารตะ ได้พยายามที่จะไม่ให้ “ตกขบวน” รถไฟสายอิทธิพลอำนาจภูมิภาคนี้เช่นกัน ล่าสุด ศึกชิงเจ้ายุทธจักร “อินโด – แปซิฟิก” ก็ได้มีผู้ร่วมวงไพบูลย์เพิ่ม เป็น “ญี่ปุ่น” เจ้าของฉายา “ปลาดิบ” ขยับ “ซามูไร” คือ “การทหาร” ออกปฏิบัติการ ส่งสัญญาณให้โลกได้รับรู้หลายครั้งหลายครา ซึ่งถ้าจะว่าไป “ญี่ปู่น” ลูกบูชิโดรายนี้ เคยมีอิทธิพลทางการทหารระดับแถวหน้าในภูมิภาคย่านแปซิฟิกมาแล้วเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนยุติจบบทบาทเพราะพ่ายแพ้ในมหายุทธ์สงครามโลกดังกล่าว กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น ฝึกซ้อมรบกับกองทัพชาติพันธมิตรต่างๆ โดยการหวนมาใหม่ใน “อินโด – แปซิฟิก” หนนี้ ญี่ปุ่น ก็ได้ควงซามูไรด้วยกระบวนท่าสารพัด คือ ปฏิบัติการทางทหารเป็นประการต่างๆ เช่น การระดมกำลังพลออกไปซ้อมรบกับเหล่านานาชาติพันธมิตร และการสั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์ประดามี เป็นต้น ทั้งนี้ กระบวนยุทธ์ของญี่ปุ่น ในอันจะทำให้แดนอาทิตย์อุทัย ทวงคืนความยิ่งใหญ่กลับคืนมายังภูมิภาคแห่งนี้อีกครั้ง ก็เริ่มมีมาหลายขวบปีแล้ว ผ่านความพยายามในกระบวนการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ของประเทศ ที่จำกัดบทบาททางทหารของญี่ปุ่น กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ซ้อมรบภาคพื้นดินกับกองทัพอินเดียเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย แต่ที่นับว่า ทวีความร้อนแรงขึ้น ก็เริ่มขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากการเข้าร่วมซ้อมรบกับกองทัพนานาชาติภายใต้รหัสต่างๆ ถึง 66 ครั้ง ระหว่างปี 2558 – 2561 เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2555 – 2558 ระยะ 3 ปีเช่นกัน ที่มีจำนวน 53 ครั้ง เท่านั้น มิหนำซ้ำในการซ้อมรบบางสมรภูมิจำลอง “ญี่ปุ่น” ก็เริ่มการฝึกซ้อมในรูปแบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหลายสมรภูมิซ้อมอีกด้วย เช่น การซ้อมรบทางนาวีที่ทะเลจีนใต้ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่นนำเรือดำน้ำมาร่วมซ้อมรบในปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำกับชาติพันธมิตรด้วยเป็นครั้งแรก และการซ้อมรบที่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ถือว่า ทหารญี่ปุ่นออกปฏิบัติการบนแผ่นดินต่างชาติเป็นครั้งแรก นับแต่สงครามโลกรั้งที่ 2 เป็นต้นมา กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ฝึกซ้อมรบกับกองทัพพันธมิตรบนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพของญี่ปุ่นมายังดินแดนแห่งนี้ นอกจากทะเลจีนใต้แล้ว ญี่ปุ่น ยังเปิดการซ้อมรบครั้งใหญ่กับชาติพันธมิตร คือ สหรัฐฯ และอังกฤษ ตลอดจนอินเดีย ที่มหาสมุทรอินเดีย แบบให้ครอบคลุมภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอย่างแท้จริง มิใช่เพียงแต่เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิก น่านน้ำที่ตั้งทางภูมิประเทศของญี่ปุ่น เท่านั้น ใช่แต่เท่านั้น ญี่ปุ่นยังได้สั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งในแบบ “ซื้อมา” และ “ประยุกต์ดัดแปลง” ให้เหมาะกับการใช้งานของทางกองทัพในแผนการขยายอิทธิพลของทางกองทัพอีกด้วย อาทิ “โครงการนำ เอฟ-35 เครื่องบินรบล่องหนประจำการในกองทัพจำนวน 100 ลำ” ซึ่งจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น โดยมีรายงานว่า “เครื่องบินรบล่องหนแบบเอฟ-35 (F-35 Stealth)” ราว 40 ลำ จากจำนวนข้างต้น จะนำไปประจำการบน “เรือพิฆาตอิซูโม” ระวางขับน้ำ 27,000 ตัน ซึ่งเดิมเป็นเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ แต่จะถูกดัดแปลงให้เป็นเรือพิฆาตบรรทุกเครื่องบินขับไล่ในโครงการดังกล่าว “อิซูโม” เรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ การออกมา “เล่นใหญ่” ในบทบาททางการทหารของญี่ปุ่นข้างต้น ก็เพื่อต้านทานอำนาจอิทธิพลของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่นับวันจะแผ่ไพศาลรุกขยาย จนอาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อทางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาในประวัติศาสตร์ รวมถึงการขยายเครือข่ายชาติพันธมิตรผ่านการซ้อมรบในรหัสต่างๆ ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นใจให้แก่ญี่ปุ่นเองในศักยภาพทางการทหารสำหรับพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยหากเกิดเหตุร้ายอย่างไม่คาดฝัน เหนือความหมายขึ้นมา เครื่องบินขับไล่แบบ “เอฟ-35” สเต็ลท์ ที่ญี่ปุ่น มีแผนที่จะสั่งซื้อมาประจำการจำนวนนับร้อยลำ