คืบคลานเข้าใกล้ไปทุกขณะ กับทิวาวารวาระท้ายสุดของปีจอ นักษัตรสุนัขเริงร่า พร้อมเปลี่ยนศักราชเข้าสู่ ปีกุน นักษัตรหมูทอง ซึ่งตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีหลายเหตุการณ์สำคัญๆ ดังจะนำมาเสนอให้ได้ยลกัน ณ บัดดล พิธีเสกสมรสเจ้าชายแฮร์รี-มาร์เคิล เริ่มจากข่าวดีที่บรรดาชาวโลกตั้งตารอ นั่นคือ พิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รี แห่งราชวงศ์อังกฤษ พระชนมมยุ 33 พรรษา กับ น.ส.มีแกน มาร์เคิล ดารานางแบบสาวชาวอเมริกัน วัย 36 ปี ซึ่งมี ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ในพระราชวังวินด์เซอร์ กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ทั้งสองคบหาดูใจกันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 กล่าวขวัญกันว่า พิธีเสกสมรสที่มีขึ้น เป็น “งานแต่งแห่งปี” ที่กำลังจะผ่านพ้นไปเลยทีเดียวก็ว่าได้ “มหาธีร์ โมฮัมหมัด”มลายูเฒ่ารำกริช “มหาธีร์ โมฮาหมัด” ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 92 ปี ถูกยกให้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์โลกในแวดวงการเมืองเลยทีเดียว สำหรับ “มหาธีร์ โมฮาหมัด” นักการเมืองผู้เฒ่าแห่งมาเลเซีย แดนมลายู ที่ออกมาวาดลีลา “รำกริช” คือ โลดแล่นบนเวทีการเมืองในวัย 92 ปี เพื่อกำราบ “ทายาททางการเมือง” ของเขา คือ “นาจิบ ราซัค” ในศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของประเทศ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็น “มารดาแห่งการเลือกตั้ง” โดยเขาเข้าไปเป็นผู้นำของกลุ่มแนวร่วม “ปากาตัน ฮาราปัน” ผลปรากฏว่า มลายูเฒ่าแผลงฤทธิ์รำกริชเอาชนะการเลือกตั้งไปอย่างท่วมท้นถล่มทะลาย พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุด ควบคู่ไปกับการผลักให้พรรคอัมโนที่ปกครองมาเลเซียมาหลายทศวรรษไปเป็นฝ่ายค้าน “สี จิ้นผิง”จักรพรรดิจีนใหม่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ กับการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือซีพีซี ประจำปี ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง อาจกล่าวได้เลยว่า ในแดนมังกร คือ จีนแผ่นดินใหญ่ยุคนี้ มิมีใครที่จะทรงอิทธิพลยิ่งใหญ่เทียบเทียม “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้อีกแล้ว เพราะสามารถผนึกลมปราณ เดินกำลังภายใน จนทำให้ “คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน” หรือ “ซีพีซี” ที่กำลังประชุมประจำปี ครั้งที่ 19 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต้องยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หมวด 2 มาตรา 79 ที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ หรือ 10 ปี ซึ่งได้เคยถูกยกเลิกไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี 2518 และหวนกลับมาใหม่อีกครั้งในปี 2525 เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจมิให้ตกแก่ใครคนใดคนหนึ่ง จนนำพาไปสู่ความวุ่นวายเหมือนสมัย “เหมา เจ๋อตุง” ส่งผลให้นายสี สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ต่อไป หลังหมดวาระในปี 2566 โดยนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การทรงอิทธิพลอำนาจของนายสี ไม่ผิดอะไรกับจักพรรดิยุคจีนใหม่ ที่ไม่ใช่มีผลต่อการเมืองในแดนมังกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเมืองในเวทีโลกอีกต่างหากด้วย “สงครามค้าโลก – ศึกเศรษฐกิจป่วนพิภพ” เครื่องซักผ้าจากเกาหลีใต้ หนึ่งในรายการสินค้าที่ถูกเพิ่มจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ในสงครามการค้าช่วงแรกๆ ฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า เพราะการดำเนินนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา” อย่างเอาจริงเอาจังกันโดยแท้ ถึงได้ปะทุคุโชนขึ้นเป็นไฟสงครามการค้ากันขึ้น การผลิตแผงเซลล์สุริยะ หรือโซลาร์เซลล์ ในจีนแผ่นดินใหญ่ หนึ่งในรายการสินค้าถูกจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ในช่วงแรกของสงครามค้าโลก เริ่มจากการที่นายทรัมป์ ลงนามใน รัฐบัญญัติ หรือกฎหมาย ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าฉบับใหม่ ภายใต้ข้ออ้างว่า เพื่อแก้ไขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับเหล่าชาติคู่ค้าต่างๆ และตอบโต้สำหรับบางประเทศ ซึ่งหมายถึง จีนแผ่นดินใหญ่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เรียกว่า ตอบโต้ด้วยอาวุธมาตรการทางภาษี หรือการตั้งกำแพงภาษี ก็ส่งผลให้ต้องเพิ่มการจัดเก็บภาษีแผงประจุไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ หรือเซลล์สุริยะที่นำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ร้อยละ 30 รวมไปถึงการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าประเภทเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่จากเกาหลีใต้ตั้งแต่ร้อยละ 20 ไปจนถึงร้อยละ 50 เป็นปฐม ก่อนตามมาด้วยการจัดเก็บภาษีเหล็กกล้าร้อยละ 25 และอะลูมิเนียม ร้อยละ 10 กับสหภาพยุโรป และกับเหล่าประเทศในภูมิภาคอเมริกาด้วยกัน ถึงขนาดที่ “อียู” ต้องเตรียมออก “เซฟการ์ด” มาตรการทางภาษีกับสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้อย่างเท่าเทียมกัน หลังจากประธานาธิบดีเปิดศึกการค้าขนานใหญ่กับพญามังกรด้วยการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนหลายพันรายการ มูลค่ารวมแล้วหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งสถานการณ์ขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งลากยาวไปถึงปีต่อๆ ไป จนยังต้องจับตาต่อสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยส่วนรวม แถมมิหนำซ้ำ ยังลุกลามบานปลายออกไปในแขนงอื่นๆ เช่น ทางเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น การที่ทางการสหรัฐฯ สั่งแบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมหัวเว่ย และแซตทีอี จากจีนแผ่นดินใหญ่รวมถึงการจับกุมนางเมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน หรือซีเอฟโอ ของหัวเว่ย เป็นต้น “สันติภาพฉายฉานบนคาบสมุทรโสม” นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ (ซ้าย) พบปะกับประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่หมู่บ้านปันมุนจอม พรมแดนระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อกสั่นขวัญแขวนไปทั่วทั้งพิภพกันอยู่หลายขวบปี แต่ถึง ณ ชั่วโมงนี้ สถานการณ์บรรยากาศเริ่มคลายคลี่ไปในทิศทางที่ดูดีขึ้นมาบ้าง สำหรับ วิกฤตินิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ที่ปรากฏว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องหวั่นวิตกกับการทดลองยิงขีปนาวุธสารพัดรุ่น ทดสอบประสิทธิภาพอาวุธนิวเคลียร์อีกหลายลูก จากเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะในยุค “คิม จอง-อึน” เป็นผู้นำ กระทั่งมาถึงช่วงกลางปีนี้ ชาวโลกได้หายใจกันทั่วท้องขึ้น หลังการพบปะเจรจาในระดับซัมมิต คือ สุดยอดระหว่างผู้นำครั้งประวัติศาสตร์บังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือกับประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ ที่หมู่บ้านปันมุนจอม และนายคิม จอง-อึน กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประกายแสงครั้งสำคัญในอันที่จะนำสันติภาพมาฉายฉานบนคาบสมุทรเกาหลี ตลอดมีไปจนถึงความสงบสุขของโลกโดยส่วนรวมในอนาคต นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ (ซ้าย) พบปะและเจรจา หรือซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนกลางปีนี้