วันที่ 10 ธ.ค.2567 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา   กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีความเห็นว่าในเรื่องรัฐธรรมนูญ  โอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นยังมีอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ทันเสร็จสิ้นในสภาอย่างแน่นอน ส่วนตัวคาดว่าจะได้เพียงแค่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. แต่ตรงจุดนี้ก็ยังติดปัญหาอยู่เช่นกัน เพราะโอกาสการจะทำประชามติสองครั้ง ไม่เชื่อว่าจะทำได้  ซึ่งต้องทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือสามครั้ง เนื่องจากหากทำแค่สองครั้ง  สมาชิกรัฐสภาอาจจะอึดอัดกับการโหวต เพราะอาจจะไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อผูกมัดอยู่  ดังนั้นวันเวลาที่เหลืออยู่ในตอนนี้ ก็ต้องเท่ากับว่าการจัดทำประชามติต้องยื่ดออกไปอีก 180 วัน และบวกอีก 100 วัน

นายนิกร กล่าวว่า สำหรับการทำประชามติตามกฏหมาย  จะเกิดขึ้นปลายเดือนธ.ค.68 ถึงต้นเดือนม.ค.69 โอกาสสุดท้ายที่จะทัน ส.ส.ร. คือยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256  ในเดือนม.ค.เพื่อจะพิจารณาให้แล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 70  เป็นโอกาสครั้งเดียวที่จะต้องผ่าน เพราะหลังจากเดือนมี.ค.หากกฎหมายผ่านก็จะไปทำการเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมา ซึ่งจะต้องใข้เวลาไปอีก 80-90 วัน ก่อนนำเข้าที่ประชุมสภาอีกครั้ง ซึ่งสภาจะปิดในวันที่ 10 เม.ย.2570  จึงย้ำว่าเป็นโอกาสสุดท้าย  ยังทันที่จะกลับมาพิจารณาในสภาที่มีอยู่  แต่หากครั้งแรกไม่ผ่าน หากดำเนินการในต้นปี 2570 ไม่ทัน เนื่องจากติดปัญหาวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็จะไปเข้าสู่สมัยที่สอง  ซึ่งเป็นสมัยสุดท้าย และจะไม่ทันตั้ง ส.ส.ร. อย่างมากก็จะได้แค่การยื่นญัตติ ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่า เมื่อมีโอกาสเดียว พรรคร่วมรัฐบาลควรจะมีร่างรัฐธรรมนูญ  แก้ไขมาตรา 256  เพื่อนำไปสู่การตั้ง สสร. เสียเอง เพราะจะได้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และมีทางเดียวที่จะผ่าน  แต่หากต่างพรรค ต่างยื่น ไม่เขื่อว่าจะผ่านได้ 

นายนิกร กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังค้างอยู่ในรัฐสภาของพรรคประชาชน ส่วนตัวมีความกังวล ว่ามาตรา 256 ที่ค้างอยู่ในสภาขณะนี้นำเสนอสภาฯไปแล้ว ไม่มี ส.ส.ร.  โดยเฉพาะมาตรา 256 (8) ที่มีประเด็นว่าจากจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติอยู่ในนั้นด้วย  แต่มาตราดังกล่าว เอาหมวดที่เกี่ยวพระมหากษัตริย์และรัฐออกไป  คือไม่ต้องทำประชามติ  จุดนี้จะมีปัญหา ส่วนตัวเชื่อว่าวุฒิสภาจะไม่เห็นด้วย แต่ร่างนี้อาจจะเข้าสู่การพิจารณาได้ ทั้งนี้หากจะมีการยกร่างใหม่ มาตรา 256 ที่มี สสร.ไม่เชื่อว่าจะเข้าสภาตอนนี้ได้ ต้องรอให้การทำประชามติเสร็จเสียก่อน 

“จึงขอบอกว่าเป็นโอกาสสุดท้าย ในการที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งให้ทันสภาชุดนี้ แต่ว่ายังมี ส.ส.ร. ก็ยังดี แต่ว่าโอกาสน้อยมาก ต้องพยายามอย่างยิ่ง และต้องคุยกับทางวุฒิสภาเมื่อไม่คุยก็ไปไม่ได้” นายนิกร กล่าว

เมื่อถามว่าจะมีการหารือกับฝ่ายรัฐบาลหรือไม่  นายนิกร กล่าวว่า ตนเองได้เสนอเรื่องนี้ในวันรัฐธรรมนูญ  และขอชี้ว่ามีโอกาสเดียวแล้วที่จะทำได้ตามนโยบายของรัฐบาล นั่นก็คือว่ารวมตัวกัน เหมือนการแก้ไขบัตรเลือกตั้งสองใบ  ซึ่งตอนนั้นใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจึงทำได้  ดังนั้นเรื่องนี้ก็เหมือนกันจำเป็นต้องใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทุกพรรคที่ไปประกาศนโยบายเรื่องนี้  ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน   ต้องมาร่วมกันทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และจะเป็นผลงานสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ คือให้มี ส.ส.ร.  และบอกประชาชนให้ชัดว่าเราทำทั้งฉบับไม่ทัน แต่การมี สสร.ก็ถือว่าได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว และดีที่สุดแล้ว 

เมื่อถามว่าจะฝากบอกกับพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลอย่างไร  ที่ยังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคต่อสภาอยู่ นายนิกร  กล่าวว่า ตนเองอยู่กับเรื่องนี้มานาน และพยายามจะแก้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกยุบ จึงมีความตั้งใจ และขอบอกในฐานะคนที่อยากให้มีรัฐธรรมนูญจริงๆ  จึงอยากฝากบอกผ่านสื่อมวลชนว่าพรรคการเมืองต้องมาร่วมกัน เพราะเป็นของทุกคนและของวุฒิสภาด้วย ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยกับวุฒิสภาด้วย จะคิดแต่ในส่วนของพวกเราไม่ได้ เพราะยังต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาหนึ่งในสาม ซึ่งหากไม่คุยกัน ไม่มีร่างของรัฐบาล  ส่วนตัวเชื่อว่ายากมาก เพราะจะมีประเด็นที่แตกออกไปอีกมาก 

เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการเพื่อให้สำเร็จหรือไม่ นายนิกร ก็เห็นว่าต้องมีร่างของรัฐบาลก่อน  แล้วต่อจากนั้น พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องไปคุยกัน และต้องหารือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เอาแต่ฝ่าย สส. แต่ก็ต้องคุยกับวุฒิสภาว่ารับได้แค่ไหนด้วย รัฐธรรมนูญเป็นของทุกฝ่ายทุกคน ไม่ใช่เป็นของพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นของทุกคน ซึ่งทุกคนก็กังวลกับรัฐธรรมนูญนี้  หากจะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามของรัฐบาลยังทัน โดยร่างจะต้องจัดทำเสร็จก่อนการจัดทำประชามติ ซึ่งจะไปตรงกับไทม์ไลน์ที่ระบุว่าทำประชามติในต้นปี 2569 ก็ยกร่างตอนนั้น  แต่ส่วนตัวเห็นว่าให้เสนอร่างตอนนี้เลย เพื่อให้ประชาชนได้เห็น  และได้ไปลงคะแนน เพราะคะแนนการทำประชามติแม้ว่าจะเอาตามมติของ สส.  แต่หากได้มาน้อยก็จะเป็นข้ออ้างด้วยเหมือนกัน เพราะหลักการของวุฒิสภา เห็นว่าจะออกมาเกินกึ่งหนึ่ง แต่หากได้เพียงร้อยละ 20 ทุกคนจะว่าอย่างไร  ประกอบกับผลสำรวจนิด้าโพลที่ประชาชนเห็นว่าเสียงประชามติต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ตรงนี้จะเป็นหลังพิงฝา ซึ่งจะทำให้ยากขึ้นไปอีก