เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 67 ที่วัดหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ให้แก่ผู้เฒ่าเชื้อสายไทลื้อประมาณ 65 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสถานะบุคคล หรือ “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทั้งนี้กิจกรรมเริ่มต้นโดย นางมาลีรรณ พรมวินัย ครูสอนโยคะ ได้แนะนำวิธีการทำโยคะสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีผ้าขาวม้าเป็นเครื่องมือซึ่งเป็นการบริหารเพื่อให้ยืดเส้น ยืดเหยียด ยกยืดขา- แขน ฝึกลมหายใจเข้าออก โดยผู้เฒ่าทุกคนต่างสนุกสานทำตามที่ครูสอน และหลายท่าก็ได้สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้เฒ่า โดยพบว่าส่วนใหญ่ผู้เฒ่าเชื้อสายไทลื้อมีการรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี มีความกระฉับกระเฉงเนื่องจากเป็นชาติพันธุ์ที่มีกิจกรรมทั้งเกษตรกรรมและหัตถกรรม
จากนั้นนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งพชภ. กล่าวกับผู้เฒ่าว่า การรักษาสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับประเด็นสิทธิสถานะบุคคล ที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่จะให้ผู้ถือบัตรบางกลุ่มได้พัฒนาสถานะบุคคลเร็วขึ้น เช่น บัตรเลข 6 บัตร 0-89 และบัตรตกหล่น คาดว่าภายในต้นปี 2568 จะมีมีแนวทางให้ไปยื่นขอใบต่างด้าวได้ แต่ตามขั้นตอน จากนั้นต้องรอเวลาอีก 5 ปี จึงจะยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ ซึ่งตามมติครม.นี้ นายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ และไม่ต้องมีการรับรองโดยหน่วยงานรัฐ ผู้ยื่นสามารถรับรองตนเองได้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เฒ่าที่มีภูมิลำเนาบนแผ่นดินไทยอย่างยาวนาน เช่นกลุ่มไทลื้อนี้ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เมื่อขอใบต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่ได้แล้ว ก็ควรให้สามารถยื่นขอแปลงสัญชาติได้เลย
นายเพชร คำวงศ์ อายุ 71 ปี ผู้เฒ่าไร้สัญชาติเชื้อสายไทลื้อ กล่าวว่าตนอพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยเมื่อตอนอายุ 17 ปี โดยรับจ้างเลี้ยงควายจนมีครอบครัวที่นี่ มีภูมิลำเนาที่บ้านหาดบ้าย มาโดยตลอด ล่าสุดได้ยื่นขอหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว บัตรเลข 8 ซึ่งดำเนินการจนได้เอกสารในเวลาประมาณ 1 ปี ตนเองเมื่ออาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยก็ได้ทำหน้าที่ ทำงานอาสาสมัครต่างๆ ให้หน่วยงานรัฐ อพปร. ลูกเสือ ป้องกันยาเสพติด เข้าอบรม อาสาช่วยสร้างวัด ทำงานพัฒนาหมู่บ้าน ทำหมดทุกอย่าง รวมทั้งการบริจาคสาธารณกุศลต่างๆ
“อยากเป็นคนไทย เพราะคนไทยมีสิทธิต่างๆ จะทำอะไรเขาก็ถามหาบัตรไทย หากไม่มีก็ไร้สิทธิ มันสุดที่บัตรประชาชนไทย ผมไม่มีบัตรก็ไม่ได้อะไร คนอื่นเขาทำได้หลายอย่าง ผมมีที่ดิน มีสวน แต่ถือครองไม่ได้ ผมมีลูก 3 คน เป็นคนไทยทั้งหมด เป็นตำรวจ เป็นผู้จัดการบริษัทที่ กทม. และเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ภรรยาของผมก็เป็นคนไทย” ผู้เฒ่าไทลื้อ กล่าว
นางหล้า ใจดี แม่เฒ่าไร้สัญชาติอายุ 71 ปี กล่าวว่า ตนเข้ามามามีถิ่นฐานที่บ้านหาดบ้ายเมื่ออายุประมาณ 16 ปีหรือเมื่อ 55 ปีก่อน มีสามีเป็นคนไทย ลูกๆ เป็นคนไทยทั้งหมด ตนอยากได้บัตรคนไทย เพราะไม่ใช่เป็นคนไทยแบบปัจจุบันคือไม่มีบัตรประชาชนและเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ อยากได้เงินผู้เฒ่าผู้แก่ (เบี้ยผู้สูงอายุ) สำหรับหน้าที่พลเมืองนั้นตนเองได้ทำงานอาสาสมัครของหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ทำงานให้ส่วนรวมมาโดยตลอด อบรมลูกเสือชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีความรู้ในการทอผ้าไทลื้อ และทำงานหัตถกรรมต่างๆ
นายทน คำลือ ผู้เฒ่าไร้สัญชาติกล่าวว่าตนเข้ามามีถิ่นฐานในประเทศไทย เมื่อ พศ. 2518 หรือเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ต่อมาได้อาสาเป็นทหารกลุ่มกระทิงแดง ไปรบที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ตอนนั้นอายุ 18 ปี เดินทางไปรบจริงๆ จนมีการปะทะ โดนลูกปืนเข้าที่แผ่นหลัง ทะลุมาที่หน้าอก บาดเจ็บสาหัสก็ต้องกลับมาบ้านรักษาตัว
“ลูกๆ ของผมเป็นคนไทยทั้งหมด ผมอยากได้บัตรประชาชนไทยเพราะอยู่แผ่นดินไทยมาตลอด อยากได้สัญชาติไทย อยากมีสิทธิทำหน้าที่พลเมือง ผมช่วยงานส่วนรวมมาโดยตลอด อยากได้สัญชาติไทย อยู่มานานแล้ว อยู่ประเทศไทยมาไม่เคยคิดจะทำผิดกฎหมาย ตั้งใจเป็นพลเมืองดีมาทั้งชีวิต” ผู้เฒ่ากล่าว
ขณะที่นางอิ่นคำ ธรรมวงศ์ แม่เฒ่าไร้สัญชาติวัย 65 ปี กล่าวว่า อพยพจากเมืองต้นผึ้ง ประเทศลาวมาตั้งแต่เกือบ 50 ปีก่อน ล่าสุดได้บัตรประจำตัวคนต่างด้าว ขณะที่สามีซึ่งทำเรื่องไปพร้อมๆกันกลับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้รับแจ้งว่าต้องรออีก 5 ปีถึงจะสามารถยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ เพื่อมีบัตรประชาชนเป็นคนไทยได้ ทำให้รู้สึกกังวลเพราะอายุเยอะแล้ว จึงไม่รู้ว่าจะอยู่ถึงวันนั้นหรือไม่ อยากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาด้วย เพราะรอมาแล้ว 50 ปี ไม่อยากตายไปแบบคนไร้สัญชาติ
ทั้งนี้ชุมชนหาดบ้ายเป็นหนึ่งในชุมชนชาวไทลื้อตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เป็นชุมชนที่รักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม มีประเพณีจุลกฐิน และภูมิปัญญาที่สืบทอดมา และมีชื่อเสียงในเรื่องผ้าทอมือไทลื้อซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง