“ไม่อยากให้ประชาชนคนไทยอนุรักษ์ป่าตามกระแส แต่อยากให้มองความเป็นจริงว่าเราต้องรักษาป่าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ตามกระแสพอแล้งแล้วก็อนุรักษ์ พอน้ำท่วมก็มาอนุรักษ์ป่า แต่เราควรจะทำให้เกิดความยั่งยืน กระแสตรงนี้สุดท้ายเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจังในการที่จะอนุรักษ์ผืนป่าให้กับประเทศ” ระยะหลังๆ เราเริ่มเห็นประชาชนตื่นตัวในเรื่องปัญหาทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเรามากขึ้น เพราะจากผลกระทบที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย หรือแม้กระทั่งฝนฟ้าที่ตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น พื้นที่ป่าไม้ที่ควรจะมีไว้เพื่อผลิตออกซิเจนกลับกลายเป็นสถานที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ “ ปัญหาป่าไม้มันซับซ้อน มันฝังรากลึกมานาน การแก้ปัญหาจะต้องใช้ทุกมิติ และการแก้ปัญหาแต่ละมิติ จะต้องเกิดผลกระทบ ดังนั้นต้องหาจุดที่เหมาะสมให้ได้ ” น้ำเสียงอันหนักแน่นของ “ผศ.ดร. ขวัญชัย ดวงสถาพร” อาจารย์ และหัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พ่วงด้วยตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการสาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่กำลังพยายามสื่อถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ในปัจจุบัน วันนี้ “รื่นรมย์คนการเมือง” จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักตัวตนของ อาจารย์ขวัญชัย สปท.สายเลือดสีเขียวที่ทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่กับวงการป่าไม้ ว่าจะมีแนวทางในการช่วยเหลือทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่นี้ในฐานะสปท.อย่างไรกันบ้าง - รู้จัก “ขวัญชัย” อาจารย์ขวัญชัย แนะนำตัวเองอย่างน่ารักๆ ว่าเดิมพื้นเพเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาจึงเลือกเอนทรานซ์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสอนเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสมัยเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ๆ จะมีเพลงเมื่อใดที่ฉันได้รัก ของศิลปินอิทธิ พรางกูร โดยมีพระเอกที่เป็นนักวิชาป่าไม้อยู่ในป่า ศึกษาข้อมูลในป่า จดบันทึก ทำให้รู้สึกว่ามันดูดี บรรยากาศก็ดี จึงเลือกเรียน บวกกับกระแสช่วงนั้นมีภาพยนตร์เรื่องร้อยป่า กำลังได้รับความนิยม โดยมีพระเอกเป็นนักอนุรักษ์ป่า เลยตัดสินใจลองเอนทรานซ์ และนั่นก็เป็นเหตุผลให้ได้มายืนอยู่ตรงนี้ สำหรับกิจกรรมในวันหยุดนั้นอาจารย์เล่าว่าชอบปลูกต้นไม้ที่บ้าน และไหว้พระ โดยจะมีวัดประจำคือวัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจะเดินทางไปไหว้เกือบทุกอาทิตย์ อีกทั้งมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน สมัยศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี อยู่ชมรมวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นชมรมที่สอนให้นิสิตฝึกการเป็นนักเขียน จึงพยายามเขียนเรื่องสั้น เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ตอนนี้พยายามเขียนเรื่องสั้น ที่เชื่อมโยงกับการเมือง และทรัพยากรป่าไม้ เพราะได้มาสัมผัสกับวงการการเมือง โดยผลงานส่วนใหญ่จะส่งไปตามหนังสือเรื่องสั้น นอกจากนี้อาจารย์ยังมีความสนใจในเรื่องของศาสตร์การศึกษาวงปีไม้ โดยการศึกษาวงปีไม้เป็นการเช็คอายุไม้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และตอนนี้ก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวงปีไม้อยู่ด้วย - ก้าวแรกในบทบาทสปท. อาจารย์ขวัญชัย ได้เล่าถึงบทบาทของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสปท.ว่าการได้มายืนอยู่ตรงนี้ทำให้มีโอกาสมากขึ้น ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เชี่ยวชาญมาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ของชาติ และได้เพิ่มประสบการณ์ในเรื่องการกำหนดนโยบายหรือนำเสนอนโยบายต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในชีวิตครั้งหนึ่งที่สูงมาก ความต่างที่ลงตัว สำหรับบุคคลที่ยึดถือเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตนั้น อาจารย์บอกว่าโชคดีมากที่พ่อกับแม่มีลักษณะต่างกัน เพราะพ่อมีลักษณะขยัน ชอบทำสวน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อายุยืน แต่เป็นคนใจร้อน ส่วนแม่เป็นคนใจเย็น มีสมาธิสูง จบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่สามารถเลี้ยงลูกได้ทั้ง 5 คนจนได้ดี ดังนั้นเขาจึงพยายามที่จะนำจุดเด่นของทั้งพ่อและแม่มารวมกัน เพราะคิดว่าถ้าคนเรามีความขยัน อดทน มีสมาธิในการทำงาน และสามารถเป็นคนที่ลดความโกรธได้ น่าจะเป็นคนที่มีความสุข และในฐานะอาจารย์ จึงได้มีโอกาสถ่ายทอด ความคิดต่อลูกศิษย์เสมอมา ว่า “สิ่งที่ผมสอนลูกศิษย์เสมอคือ 1.ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เพราะถือว่าถ้าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนก็คงจะอยู่ในสังคมยาก 2.จะต้องเป็นที่รักครอบครัว และมีความกตัญญู เพราะถ้าใครไม่กตัญญู ขนาดพ่อแม่ยังไม่กตัญญูนับอะไรกับคนในสังคมเล็กๆ ของเรา” - อุดมการณ์ตั้งมั่น อาจารย์ เล่าถึงอุดมการณ์ที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดว่า จะต้องยึดหลักการและทฤษฎีให้แน่วแน่ ห้ามวอกแวกกับกระแสสังคม หรือผลประโยชน์ แม้กระทั่งการมาเป็นสปท. ก็ยังยึดหลักการและทฤษฎีนี้ตลอด เพื่อให้นักวิชาการนั้น เป็นตัวที่จะทำให้เกิดความสมดุล และเป็นตัวถ่วงดุลในมิติอื่นๆ ให้ได้ นี่คือหลักการในฐานะนักวิชาการ ส่วนหลักการสอนนักศึกษาอาจารย์จะสอนเสมอว่าเราจะต้องเข้าใจพื้นฐานในองค์ความรู้ให้แม่น จึงสามารถที่จะประยุกต์ได้ เพราะหากคนรุ่นใหม่ๆ พื้นฐานองค์ความรู้ไม่แน่นก็จะเกิดผลเสีย เมื่อไปทำงานแล้ว หากมีอำนาจเป็นผู้บริหาร เกิดตัดสินใจพลาด จะส่งผลกระทบกับองค์กรป่าไม้อย่างหนัก และสุดท้ายคือเรื่องของความสุจริตในวิชาชีพ การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นคือเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเจ้าตัวได้สาบานว่าจะไม่ทุจริต - มองสถานการณ์ป่าไม้ไทย อาจารย์ขวัญชัย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ป่าไม้ในบ้านเราว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีป่าไม้เหลือเพียง 31 เปอร์เซ็น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเราตั้งเป้าหมายของประเทศไว้ 40 เปอร์เซ็น หากมองให้ลึกลงไปป่าที่มันหายไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ที่กลายเป็นภูเขาหัวโล้น ซึ่งป่าเหล่านั้นเป็นจุดสำคัญที่จะใช้เป็นแหล่งการป้องกันภัยพิบัติ และอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้ แต่ปรากฏว่าปัญหาเหล่านี้มีเยอะมากในบ้านเรา ถือว่ามันวิกฤติแล้ว มีประชาชนจำนวนมากอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในเขตป่าอย่างไม่ถูกกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาหมักหมมที่อยู่ในหลายยุคหลายรัฐบาลที่แก้ไม่สำเร็จ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขเรื่องเหล่านี้ให้ได้ ส่วนวิธีการแก้ไขนั้น ต้องคิดอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม และต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้ประโยชน์ และเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญจะต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่เป็นเจ้าของป่า ป่าเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคนในประเทศ ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ดังนั้นต้องหาจุดเหมาะสม พื้นที่อยู่อาศัยก็ให้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ที่ที่ควรอนุรักษ์ก็ควรอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ดินและน้ำ - ฝากสองมือช่วยโลก “ขอฝากให้ประชาชนทุกคนรักษาป่า เนื่องจากป่าเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ และในปัจจุบันสถานการณ์ทรัพยากรป่าไม้จัดอยู่ในขั้นวิกฤติ เราต้องหยุดยั้งการบุกรุกป่าให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มผืนป่าให้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนคนไทยอนุรักษ์ป่าตามกระแส แต่อยากให้มองความเป็นจริงว่าเราต้องรักษาป่าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ตามกระแสพอแล้งแล้วก็อนุรักษ์ พอน้ำท่วมก็มาอนุรักษ์ป่า แต่เราควรจะทำให้เกิดความยั่งยืน กระแสตรงนี้สุดท้ายเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจังในการที่จะอนุรักษ์ผืนป่าให้กับประเทศ” ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสปท.อาจารย์ขวัญชัย บอกกับเราว่าอยากเห็นอนาคตของประเทศคือ 1.อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทิศทาง และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่ใช่พอเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ ก็เปลี่ยนนโยบายหรือทิศทาง ทำให้ขาดความยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาบางอย่างไม่สำเร็จ 2.อยากให้ประเทศไทยมีการพัฒนาทั้งส่วนที่เป็นกายภาพ และจิตใจหรือวินัยของคนให้คิดถึงส่วนรวมมากขึ้น 3.จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าอยู่ในประเทศไทยแล้วมีความสุขและปลอดภัย และ4.อยากให้คนที่ขาดโอกาสทั้งทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตได้รับโอกาสที่เป็นธรรม ไม่ใช่ได้รับเฉพาะบางคน บางกลุ่มเท่านั้น เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์