คอลัมน์ เรื่องจากปก อย่ากลัวทรัมป์!!! พลิกล็อก ช็อกกันไปทั้งโลกไปเลยทีเดียว กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์หนนี้ ที่ปรากฏว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พลิกแผ่นฟ้า ผ่าผลโพลล์ โค่นนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต คว้าชัยได้เก้าอี้ประธานาธิบดีไปอย่างเหนือความคาดหมาย เรียกว่า หน้าแตกยับไปทั่วทุกสำนักโพลล์ รวมถึงก่นหักปากกาเซียนเหี้ยนกันไปถ้วนทุกสถาบัน ด้วยความพลิกผันที่ผิดคาด ก็ได้สร้างความสั่นประสาท หวาดผวาตื่นตระหนก กับ “ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45” ซึ่งได้ “รณรงค์หาเสียง” อย่างดุเดือดเลือดพล่านกันก่อนหน้า ในอันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประการต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐฯเท่านั้น ทว่ายังรวมถึงโลกใบนี้ทั้งใบ!! ไล่ไปตั้งแต่การขับไสไล่ส่งผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการอ้างเหตุผลด้านการจ้างงาน คือ มาแย่งงานทำ และการระงับการอนุญาตเข้าเมืองแก่ประชากรที่มาจากภูมิภาคเสี่ยงก่อการร้าย ซึ่งก็หมายถึงชาวมุสลิม ด้วยเหตุผลเรื่องภัยก่อการร้าย ที่จะมาคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ เป็นอาทิ ขณะที่ ด้านการต่างประเทศ มหาเศรษฐีพันล้านผู้พลิกผันเข้าสู่แวดวงการเมืองรายนี้ ก็หาเสียงอย่างดุเด็ดเผ็ดมันว่า จะยกเลิกข้อตกลงทางการทหารที่สหรัฐฯ ทำไว้กับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต และการดำเนินมาตรการกีดกันการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ อันรวมไปถึงการควบคุมดูแลเงินหยวนของจีน ตลอดจนการถอนตัวออกจากข้อตกลง “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “ทีพีพี” รวมถึงการส่งสัญญาณท่าทีที่จะทวีความสนิทสนมกับผู้นำรัสเซีย ชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นไม้เบื่อ ไม้เมา กับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นต้น ผสมผสานกับพฤติกรรมส่วนตัวอันไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะกับเพศตรงข้ามของ “เจ้าพ่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แห่งมหานครนิวยอร์ก” ผู้นี้ ก็ส่งผลทำให้เกิด “ปรากฏการณ์ต่อต้าน” ตามมา ทันทีที่ทราบผลเลือกตั้งว่า นักธุรกิจใหญ่รายนี้ ชนะเลือกตั้ง โดยมิทันที่นับคะแนนไม่เสร็จสิ้นดีด้วยซ้ำ บรรดาประชาม็อบ ก็รวมตัวประท้วงตามท้องถนนสายต่างๆ ย่านเมืองใหญ่น้อย ไม่เว้นแม้แต่มหานครนิวยอร์ก ถิ่นของนายทรัมป์เอง นอกจากนี้ ก็ยังมีที่นครไมอามี รัฐฟลอริดา รัฐ “สวิงสเตท” ที่นายทรัมป์คว้าชัยเหนือนางฮิลลารีมาได้อย่างงดงาม ที่ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน ลากยาวไปยังชิคาโก จรดถึงนครใหญ่ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนียฝั่งตะวันตก เช่น ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก รวมแล้วมีผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนนับล้านคน ตามฉากบรรยากาศการประท้วงที่นับว่า ร้อนแรงยิ่งกว่ารัฐใด ก็เห็นจะเป็นที่ “แคลิฟอร์เนีย” ซึ่งการชุมนุมประท้วงที่รัฐแห่งนี้ ถึงขนาดจุดพลุปลุกกระแส “แยกประเทศ” เรียกร้องให้มีลงประชามติในอีก 3 ปีข้างหน้า ภายใต้ชื่อว่า “แคลเอ็กซิต (CalExit)” เพื่อแยกรัฐ “แคลิฟอร์เนีย” แห่งนี้ให้เป็นอีกประเทศหนึ่งกันไปเลย กระทั่งบรรดานักการเมืองไทยที่ไม่ค่อยพอใจบทบาทการเข้ามาแทรกแซงกิจการการเมืองไทยของสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ถึงกับออกมาเสียดสีให้ว่า อเมริกาอาจต้องมาเรียนรู้การจัดการชุมนุมประท้วงในปี 2553 จากไทยเลยทีเดียว ด้วยเชื่อว่าสถานการณ์ต่อต้านว่าที่ผู้นำคนใหม่จะนำไปสู่ความรุนแรงและลุกลามบานปลาย ทว่า บรรดาผู้สันทัดกรณีที่คร่ำหวอดการเมืองสหรัฐฯ แสดงทรรศนะว่า การชุมนุมประท้วงในลักษณะนี้ ถือเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ผิดหวัง จนกลายเป็นการต่อต้าน และก็มีขึ้นแทบจะประจำหลังทราบผลเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นยุค “จอห์น เอฟ.เคนเนดี” ประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่า ป๊อปปูลาในช่วงทศวรรษ 1960 ยุค “จิมมี คาร์เตอร์” ยุค “โรนัลด์ เรแกน” ประธานาธิบดีผู้โด่งดังครั้งทศวรรษ 1980 ยุค “บิล คลินตัน” ที่แม้ทำให้สหรัฐฯ เศรษฐกิจดีขึ้นแต่ก็มีปัญหาเรื่องจริยธรรมส่วนตัว จากกรณี “โมนิกา ลูวินสกี” ยิ่งสมัย “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” ไม่ต้องพูดถึง หรือแม้กระทั่งสมัย “บารัก โอบามา” ที่กำลังจะหมดวาระไปก็เคยเผชิญหน้ากับม็อบต้าน ดังนั้นจึงไม่สามารถนำบริบทการเมืองไทยไปเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาได้ ด้วยการกลุ่มที่ต่อต้านทรัมป์นั้นก็ไม่ได้จะสนับสนุนให้คลินตัน หากแต่เพียงต้องการให้มีการรับฟังเสียงข้างน้อยเท่านั้น แตกต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมในห้วงวิกฤติการเมืองไทยผ่านมา ที่ต้องการล้มฝ่ายหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายขึ้นครองอำนาจ... อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์ได้แสดงทรรศนะว่า กระแสม็อบต้านนายทรัมป์หนนี้ มีปัจจัยจากข่าวคราวการคาดการณ์ถึงผลกระทบความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นหากนายทรัมป์ได้รับชัยชนะมาผสมโรงด้วย โดยถึงขนาดถูกยกให้เป็น “หนึ่งในฉากแห่งความหายนะของโลกเรา” หรือที่เรียกว่า “Worst-case scenario” เทียบได้กับการลงประชามติ “เบรกซิต” ที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู กันเลยทีเดียว พร้อมกันนี้นักวิเคราะห์ก็ได้สะกิดเตือนมิให้ตื่นตูมกันเกินไปว่า การคาดการณ์ ก็ยังคงเป็นคาดการณ์ อาจไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น “เบรกซิต” เป็นต้น ที่พอถึงเวลาจริงๆ ก็กลับมิได้เลวร้ายตามที่คาดการณ์กันขนาดนั้น ทั้งนี้ ในส่วนของ “ปรากฏการณ์ของทรัมป์” ก็ไม่น่าจะเลวร้ายถึงหายนะอย่างที่คาดการณ์กันไว้เช่นกัน โดยบรรดานักวิเคราะห์ที่ร่วมกันส่งซิกสะกิดเตือนหนนี้ ยังบอกด้วยว่า นายทรัมป์ห้าวหาญชาญชัยในช่วงรณรงค์หาเสียง ก็เป็นเพียง “วาทกรรม” เรียกคะแนนนิยม ด้วยการกระตุกประชาชนคนสหรัฐฯ ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กันเท่านั้น ดังที่นายทรัมป์เองได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 มินิตส์” ของเครือข่ายซีบีเอส ฝากถึงคนอเมริกันจำนวนมากที่กลัวการครองตำแหน่งประธานาธิบดีของตนว่า “อย่ากลัวไป เรากำลังจะนำประเทศของเรากลับคืนมา” สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ” ที่ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นเครื่อง “แอร์ ฟอร์ซ วัน” ทัวร์ยุโรปรอบสุดท้ายเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า เป็นธรรมชาติของการรณรงค์หาเสียง ที่ผู้สมัคร จำต้องใช้วาทกรรมดุเด็ดเผ็ดร้อน เพื่อเรียกคะแนนเสียงเหมือนกับนายทรัมป์ทำอยู่ และเมื่อนายทรัมป์มารับตำแหน่ง เขาได้ให้คำมั่นว่า จะดำเนินนโยบายในอันที่จะไม่ก่อเกิดสถานการณ์ความเลวร้ายตามที่คาดการณ์กัน เช่น นโยบายที่ยังคงความเป็นหุ้นส่วนสำคัญกับนาโต เป็นต้น เช่นเดียวกับ ทรรศนะของ “นายยูคลิด ซาคาโลตอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกรีซ” ที่ระบุว่า ไม่เชื่อว่า การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทรัมป์ จะส่งผลให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพ หรือความไม่แน่นอน บนโลกใบนี้ เพราะตลอดระยะเวลา แม้ไม่มีนายทรัมป์ โลกของเราก็อยู่กันในท่ามกลางของภาวะความไม่แน่นอนเป็นทุนเดิมกันอยู่แล้ว โดยในทรรศนะของขุนคลังแห่งแดนเทพนิยายรายนี้ บรรดานักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นสอดคล้อง พร้อมยกตัวอย่างในเหตุวิกฤติต่างๆ ที่โลกเผชิญตั้งแต่ก่อนการมาของนายทรัมป์ เช่น วิกฤติสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายในซีเรีย จนก่อให้เกิดวิกฤติผู้อพยพจำนวนนับล้านท่วมภูมิภาคยุโรป ณ เวลานี้ เป็นต้น หรือวิกฤติสงครามกลางเมืองยูเครน ที่เขย่าเสถียรภาพความมั่นคงภูมิภาคยุโรป และก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มชาติตะวันตกกับรัสเซีย มาตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นอาทิ ว่ากันในส่วนของท่าทีของนายทรัมป์ล่าสุด ก็เป็นไปในทิศทางอ่อนลง มิได้แข็งกร้าวห้าวหาญเหมือนเมื่อครั้งรณรงค์หาเสียงอยู่ ดังจะเห็นได้จากบรรยากาศที่เขาเข้าพบประธานาธิบดีโอบามา ณ ห้องทำงานรูปไข่ ในทำเนียบขาว เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการต่อโทรศัพท์สายตรงระหว่างนายทรัมป์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ที่ปรากฏว่า ทั้งสองฝ่ายต่างย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างกัน และถือเป็น “ตัวเลือกที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น” ในอันจะก่อให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนา และการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกให้เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ก็ทำให้โลกคลายความกังวลต่อการเผชิญหน้าของสองขั้วค่ายมหาอำนาจไปได้อักโข ใช่แต่เท่านั้น บรรดาที่ปรึกษาของคณะผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ ยังมองด้วยว่า นายทรัมป์มิใช่อุปสรรค แต่จะเป็น “ผู้ทำความตกลง” หรือ “ดีลเมคเกอร์” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว ทางด้าน กระแสความหวั่นวิตกของไทยเราต่อการมาของนายทรัมป์ บรรดาผู้เกี่ยวข้องสันทัดกรณีด้านการค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ก็มีทรรศนะว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 รายนี้ จะมีผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย ยกตัวอย่างนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสรท. เห็นว่า นายทรัมป์มีนโยบายการค้านำการเมือง โดยยึดหลักการเจรจาการค้าอย่างตรงไปตรงมา และในส่วนที่นายทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า ไม่เอาทีพีพี หากเป็นจริง ก็จะส่งผลดีต่อไทย โดยทำให้ไม่เสียเปรียบต่อประเทศที่เป็นสมาชิกของทีพีพีมาก ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการเมืองระหว่างประเทศ ก็มีแนวโน้มที่จะลดการเผชิญหน้าและไม่สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นกับรัสเซียและจีน แตกต่างจากนางฮิลลารีด้วยซ็ ที่หากได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ก็อาจทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับจีนและรัสเซียรุนแรงมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้ายังคงดำเนินนโยบายเหมือนกับประธานาธิบดีโอบามาตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ด้านบรรดานักวิชาการสายรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่ง ก็เห็นว่า ด้วยระบบการเมืองการปกครองในสหรัฐฯ ที่มีถ่วงดุลคานอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านรัฐสภา หรือสภาคองเกรส และฝ่ายบริหารผ่านประธานาธิบดี ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ประธานาธิบดีจะดำเนินการใดๆ ได้ตามอำเภอใจ ทว่า ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามขั้นตอนต่างๆ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง ก็กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ประเทศไทยก็ดำเนินนโยบายเดิมของเรา ก็คือการต่างประเทศที่สมดุล เพราะเราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางของอาเซียน ดังนั้น จึงมีนักวิเคราะห์บางส่วนมองแนวโน้มว่า ในอนาคตแรงกดดันและบทบาทในการแทรกแซงกิจการภายในของไทยจากสหรัฐฯอาจมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ ด้วยประการฉะนี้ จึงอย่าเพิ่งหวาดกลัวหวั่นเกรงถึงความเลวร้ายจากการบริหารของนายทรัมป์ตามที่คาดการณ์กัน เข้าทำนองสำนวนไทยว่า อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เพราะมิเช่นนั้น ก็จะได้เป็นไข้จริงๆ จากการตีตนเองจนระบมกันไปเสียก่อน