วันที่ 10 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ชี้แจงในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568ว่า ในการลงรายละเอียดในขั้นอนุกรรมมาธิการ ยืนยันว่าจะมีเอกสารชี้แจงมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ส่วนเรื่องหลักการทำงานของเหล่าทัพ ยืนยันว่ามีจุดมุ่งหมายสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนและสังคมโลก หลักการคือปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลที่มาจากประชาชน วันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพมาตอบเองในทุกเรื่อง เป็นเครื่องยืนยันว่านอกจากฝ่ายบริหารควบคุมแล้ว ยังมีฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลอำนาจในการควบคุมกองทัพด้วย
พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับคำถามเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ซึ่งมองว่าซื้ออาวุธซ้ำซ้อนกัน แลการปฏิบัติงานในการรบ ต่างคนต่างทำนั้น ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะเรามีแนวทาง การจัดซื้ออาวุธแบบแพ็คเกจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชิ้นส่วนของยุทโธปกรณ์ หรือระบบดาต้าลิ้งค์ โดยกองทัพไทยได้ลงทุนในส่วนของไซเบอร์มากกว่าเหล่าทัพอื่น เพราะต้องการเป็นฮับของเหล่าทัพ แต่เหล่าทัพก็ต้องมีระบบป้องกันของตัวเองด้วย ตนจึงมีหน้าที่แค่ประสานการป้องกันของทุกหน่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผบ.ทสส. กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเตรียมพร้อมในการดูแลกำลังพล และพลทหาร ทั้งร่างกายและจิตใจของนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เราคนที่เติบโตขึ้นมาแล้วป่วยทางจิตมากขึ้น กองทัพไทยมีสำนักงานแพทย์ บรรจุเจ้าหน้าที่ด้านเวชกรรมป้องกัน และพยาบาลที่จบปริญญาโท 1 คน และนักจิตเวชคลินิก 2 คน แน่นอนว่าจำนวนเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เราใช้กำลังพลของเราลงไปเป็นที่ปรึกษาด่านแรก โดยในแต่ละปีเราได้มีการกลั่นกรองคนเข้ามาพบว่า 17,000 คน มีป่วยสีแดง 240 คน ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาในเกือบทุกองค์กรที่เกิดขึ้น
พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาภัยคุกคามของชาติ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน และชีวิตของคนไทยที่อยู่ในต่างแดน ในพื้นที่ตะวันออกกลาง ยังมีตัวประกันเหลืออยู่ 6 คน สัปดาห์หน้าจะเป็นการเจรจารอบใหม่ในประเทศที่ 3 ก็ต้องให้กำลังใจกันซึ่งตนก็ทำงานกับกระทรวงต่างประเทศอยู่ โดยมีการหารืออย่างสม่ำเสมอกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อทำงานคู่ขนานกันไป โดยแรงงานที่อยู่ที่นี่ประมาณ 30,000 กว่าคน รวมทั้งกลุ่มที่เป็นโอเวอร์สเตย์ด้วย ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ไม่มีผู้ช่วยทูตทหาร เมื่อประเทศที่ประกาศเป็นภัยสงคราม กระทรวงต่างประเทศไม่สามารถทำงานหน่วยเดียวได้ เพราะเขาแบ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติทางการทหาร เป็นเรื่องกองทัพกับกองทัพที่ต้องคุยกันตั้งศูนย์ขึ้นมารองรับ โดยได้คุยกับเหล่าทัพในการเตรียมแผนเผชิญเหตุนี้ไว้แล้ว
“เราเป็นห่วงพื้นที่ด้านเอเชียตะวันออก เพราะมีหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีแรงงานก็ไปทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ก็มี 300,000 กว่าคน ทางไต้หวันก็มีจำนวนมากพอสมควร ซึ่งมีความเป็นห่วงค่อนข้างมาก หากเกิดวิกฤตขึ้น นอกจากแรงงานแล้วก็จะมีสินค้าที่ส่งไปด้วย เพราะเป็นจุดผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ของโลก สุ่มเสี่ยงจะกระทบต่อสายการผลิตอุตสาหกรรม พื้นที่ตรงนี้หลายชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง นโยบายต่างประเทศแต่ละชาติที่อยู่ในด้านตะวันตกล้วนอยู่ในยุทธศาสตร์ของอินโดแปซิฟิกด้วยกันทั้งสิ้น และมีการเสริมกำลังในส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งโอกาสกระทบกระทั่งก็สูงขึ้นด้วย แต่เราก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารฯ เปลี่ยนจากเรื่องพิธีการไปศึกษาเรื่องความมั่นคงมากขึ้น การเยือนของผู้นำเหล่าทัพก็ถูกถามเรื่องพวกนี้มากขึ้น” ผบ.ทสส. กล่าว
พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ทะเลที่อยู่ฝั่งตะวันออกของไทยถ้าเกิดอะไรขึ้นนั้น จะกระทบกับไทยหนักมาก เพราะการเดินเรือจะชะงักหมด รวมถึงช่องแคบที่อยู่ด้านล่างด้วย จะกระทบเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานที่ส่งจากฝั่งตะวันออกกลาง รวมถึงสินค้าที่เราจะส่งไปขายกับคู่ค้า จึงอยากเชียร์กองทัพเรือในเรื่องความมั่นคงทางทะเล ในส่วนรอบบ้านเราถ้าความสงบไม่มี ก็จะกระทบแน่นอน ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศก็ได้ให้โจทก์เรื่องการช่วยเหลือด้านของมนุษยธรรมให้มากที่สุด เช่นการส่งของไปช่วย โดยประเทศตะวันตกต้องยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ด้วย เพราะว่ามีผู้ได้รับผลกระทบนี้มีถึง 3,000,000 คน พวกนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทยประมาณ 500,000 คน กองทัพไทยจึงต้องเป็นศูนย์กลางของทุกเหล่าทัพในการบูรณาการ นอกจากนั้นไทยก็พยายามผลักดันให้ 5 ข้อตกลงอาเซียน เพื่อพูดคุยแนวทางไปสู่สันติภาพ แต่ระหว่างทางก็เกิดปัญหาตามแนวชายแดน เช่นเรื่องยาเสพติด ซึ่งตอนนี้ราคายาบ้าลดลงเรื่อยๆ จับได้มากขึ้น 5 เท่า แต่การผลิตอาจมากถึง 10 เท่า ไม่เช่นนั้นราคาคงไม่ถูกลง ซึ่งการเฝ้าตรวจก็ทำได้แค่ะดับหนึ่ง พื้นที่สีเทาก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ลดลง จึงต้องมีนโยบายชัดเจนจะทำอย่างไร เพราะปัญหาส่งผลกระทบกับประเทศไทยและทั่วโลก