รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล ปรากฏการณ์ปลดคอลัมน์นักวิจารณ์ดนตรี (คลาสสิค) และนักวิจารณ์งานศิลปะออกจากหนังสือพิมพ์และนิตยสาร เริ่มขึ้นทั้งในฝั่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกามาหลายปีแล้ว และหนังสือ-นิตยสารสำคัญๆ อย่าง New York Times, Times, และ Newsweek ก็ทยอยกันปลดคอลัมน์เหล่านี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน แน่นอนว่าสาเหตุใหญ่ที่สุดก็คือ คอลัมน์เหล่านี้ไม่มีคนอ่าน หรือถ้ามีก็คงเป็นสัดส่วนน้อยมาก ทำให้ทางผู้บริหารเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งอื่นมากกว่า แต่เหตุใดคนจึงไม่อ่าน? นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจและไม่น่าจะมีคำอธิบายง่ายๆ เพียงข้อสองข้อ อันดับแรก ในกรณีของงานศิลปะ ซึ่งอาจรวมถึงการวิจารณ์ภาพยนตร์ เราพบว่าการวิจารณ์จากผู้เขียนเก่าๆ เริ่มถูกเบียดแทรกด้วยผลงานของนักวิจารณ์หน้าใหม่จำนวนมาก ที่เขียนลงบนเว็บบล็อกของตนเองทางอินเตอร์เน็ต อันเป็นสถานที่ที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกับการวิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งเปิดกว้างให้กับผู้ที่รักการเขียนจำนวนมากได้ลงมือวิพากษ์วิจารณ์ในทิศทางและมุมมองที่ต่างๆ กันออกไป ดังนั้นพื้นที่บนหน้ากระดาษของนักวิจารณ์รุ่นเก่า จึงค่อยๆ เสื่อมความขลังลงทีละน้อย ยิ่งกว่านั้น การวิจารณ์บนหน้ากระดาษยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การใส่ภาพประกอบที่ต้องจำกัดจำนวนชิ้น (หรืออาจไม่มี) ผิดกับข้อเขียนบนอินเตอร์เน็ต ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ให้ลงภาพประกอบเท่าใดก็ได้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้งานเขียนเหล่านี้ดึงดูดผู้อ่านได้มากกว่า ส่วนในกรณีของงานศิลปะและดนตรีคลาสสิค ก็เป็นที่แน่ชัดว่าปัจจุบัน มีผู้ให้ความสนใจกับงานเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยลง ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสร้างกลุ่มผู้ฟัง-ผู้ชมกลุ่มใหม่ขึ้นมาทดแทน และที่จริง เราก็คงต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วงานเขียนวิจารณ์ดนตรีและศิลปะจำนวนมาก ก็ไม่ได้มีอะไรที่ดึงดูดคนอ่านได้มากนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะพูดถึงแต่เรื่องของการแสดง การตีความดนตรี หรือถ้าเป็นงานศิลปะก็อาจพูดถึงแนวคิดของงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ที่จะให้ความสนใจ โดยมีนักวิจารณ์น้อยคนที่สามารถมองทะลุกรอบคิดเดิมแบบนี้ และผนวกเอาศาสตร์อื่นๆ เข้ามาใช้ในการวิพากษ์ด้วย เช่น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือปรัชญา ฯลฯ นอกจากนั้น สภาวะเช่นนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงอนาคตอันมืดหม่นของตัวดนตรีคลาสสิคเอง ที่กำลังถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคมทีละน้อย และสุดท้ายแล้ว การ “ขาดแคลนพื้นที่” วิจารณ์ดนตรีคลาสสิคในหนังสือพิมพ์ ในอีกทางหนึ่ง ก็ย่อมจะกลายเป็นตัวเร่งให้ดนตรีคลาสสิคยิ่งเสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม อันส่งผลให้องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับดนตรีคลาสสิคเองเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงและพยายามดิ้นรนหาทางรอด สภาวะวิกฤตินี้ ล่าสุดจึงดำเนินไปถึงจุดที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองบอสตัน ประกาศจะให้ค่าตอบแทนในการเขียนแก่นักวิจารณ์ดนตรีผู้หนึ่ง คือ Zoe Madonna เพื่อให้เธอเขียนวิจารณ์ดนตรีลงในหนังสือพิมพ์ Boston Globe เป็นระยะเวลา 10 เดืิอน โดยองค์กรเหล่านี้ประกอบไปด้วย the San Francisco Conservatory of Music, the Rubin Institute for Music Criticism, และ the Ann and Gordon Getty Foundation องค์กรเหล่านี้จะช่วยหนังสือพิมพ์ Boston Globe โดยการจ่ายเงินเดือนส่วนหนึ่งให้กับ Zoe Madonna เพื่อเป็นค่าจ้างให้กับการเขียน โดยทาง Boston Globe มีภาระเพียงเล็กน้อยในการจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลือให้กับเธอ ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก โดยทั้งนี้ ทางองค์กรยืนยันว่าบรรณาธิการของ Boston Globe ยังคงมีอำนาจเต็มร้อยในการพิจารณาและแก้ไขบทความของ Madonna แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสามองค์กรเจ้าของเงินก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ว่าเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการแสดงดนตรี หรือสนับสนุนการแสดงดนตรีหลายแห่งในบอสตัน ดังนั้น จึงมีคำถามว่า Madonna ผู้เขียน จะยังคงรักษาท่าทีในการเขียนให้เป็นกลางได้อย่างไร หากเธอต้องวิจารณ์การแสดงดนตรีที่หน่วยงานเหล่านี้จัดขึ้น? นี่เป็นคำถามแหลมคมที่ว่าด้วยจรรยาบรรณของนักเขียน ซึ่งลำพังการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจของตัวนักเขียนเองคงไม่ช่วยตอบอะไรได้มากนัก