วันที่ 15 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีผู้ใช้สื่อออนไลน์ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรได้โพสรูปภาพคลิปวีดีโอปลาในกระชังลอยตายในแม่น้ำท่าตะเภาเป็นจำนวนมากและข้อความ โดยระบุว่า “ทะนุถนอมกันมาดีดี อยู่กันมาดีดี พอมีเรือขุดทราย ปัญหาปลาในกระชังที่เราเลี้ยงเริ่มลอยหัวตาย สีน้ำเป็นโคลน ขยะติดเกลื่อน 

โดยมีอีกหนึ่งรายที่ได้รับผลกระทบจากเรือดูดทราย ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ เรือดูดทรายขนาดใหญ่ทิ้งสมอกลางแม่น้ำแถมยังใช้สมอถึง 4 ตัว ซึ่งเชือกสมอเรือไม่มีทุ่นบ่งบอก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ” และโพสข้อความแจ้งเตือนผู้ใช้เรือสัญจรผ่านระมัดระวังอาจเกิดอันตราย

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้านและเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ในพื้นที่หมู่ 9 ตำบลตากแดดโดยอีกฝั่งของแม่น้ำท่าตะเภาติดเขตเทศบาลเมืองชุมพร ซึ่งแม่น้ำดังกล่าวแยกออกมาจากแม่น้ำท่าแซะระยะทางยาวหลายสิบกิโลเมตร ไปจดคลองท่ายางก่อนออกปากอ่าวไทย พบนายอำพัน   อายุ 67 ปี  ประธานชมรมอนุรักษ์พันธุ์กุ้งแม่น้ำลุ่มน้ำท่าตะเภา และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ประมงพื้นบ้านเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในกระชังอย่างอุดมสมบูรณ์ พอเริ่มมีการดูดทรายทำให้น้ำในคลองขุ่นการขุดทรายขึ้นมามีแอมมูเนียด้วย เป็นเหตุให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาได้รับความเดือดร้อน ในส่วนนี้อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลแก้ไขให้  และช่วยสนับสนุนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงปลาด้วย บางรายปลากะพงตายยกกระชังจำนวนมาก

ขณะที่สมาชิกผู้เลี้ยงปลากะพงในกระชังตลอดแม่น้ำท่าตะเภาไม่น้อยกว่า 20 ราย กว่า 100 กระชัง ในเขตตำบลบางหมาก  และท่ายางเริ่มมีผลกระทบขึ้นมาบ้างแล้วเพราะว่าน้ำไหลลงปลาเริ่มไม่กินอาหารและทยอยตายเรื่อยๆ เสียหายหนักสุดจำนวน 3 รายที่อยู่ใกล้เรือดูดทราย ปลาตายเสียหายเกือบ 1 แสนบาท  

ทั้งนี้ นายอำพัน   เปิดเผยอีกว่า ก่อนทำการลอกคลองดูดทราย ไม่มีการทำประชาคมหรือแจ้งให้ทราบมาก่อน ทราบว่าเมื่อปีที่แล้วมีการขุดอยู่ประมาณ 1 เดือนแล้วหยุดไป และเพิ่งจะมาเริ่มใหม่ การขุดลอกคลองส่วนตนมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องขุดลอก เพราะไม่มีเรือใหญ่เข้ามาวิ่งสัญจรจะอ้างว่าน้ำตื้นขุดเพื่อให้ระบายตนมองว่าน้ำก็ระบายดีอยู่แล้ว  แต่หากมีการอนุญาตให้ขุดต่อเนื่องความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอนกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังไม่น้อยกว่า 1   ล้านบาท 

ด้านนายมาณะชัย  อาชีพตกกุ้งแม่น้ำ ได้รับความเดือดร้อนเรื่องการสัญจรทางน้ำ  เผยว่า  เรือดูดทรายได้ทิ้งสมอกลางแม่น้ำท่าตะเภาเป็นรูปกากระบาทขวางลำน้ำ จอดเรือทิ้งไว้ตกกลางคืนก็ไม่มีสัญญาณไฟให้ผู้สัญจรทางน้ำได้ทราบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้อุบัติเหตุเกิดแน่นอน อยากให้หน่วยงานรัฐแจ้งเตือนเรือดูดทราย ขณะเดียวกันที่เรือดูดทรายขณะขุดทรายจะมีก๊าซแอมมูเนียลอยขึ้นมาเป็นฟองและมีกลิ่นเหม็นมากจนแสบจมูก เป็นผลกระทบให้ปลาตามธรรมชาติและกุ้งแม่น้ำตาย ทั้งนี้นายมาณะชัยแนะนำว่าถ้ายังดูดทรายต่อไปควรประสานงานให้กรมชลฯเปิดประตูระบายน้ำในช่วงเวลาที่ทำการดูดทราย เพื่อให้มวลน้ำผลักดันน้ำเสียที่ผุดจากก้นแม่น้ำออกไปลงทะเล”

พร้อมกันนี้ผู้สื่อข่าวได้นั่งเรือสำรวจการเลี้ยงปลากระชังของเกษตรกรใกล้กับเรือดูดทรายพบว่ารายที่เสียหายมากที่สุดเป็นปลากะพงและปลานิลตายทั้งหมดจำนวน 3 กระชัง ค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 45,000 บาท ซึ่งเจ้าของกระชังได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.เมืองชุมพรเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับเรือดูดทรายแล้วซึ่งทราบว่าอยู่ในระหว่างดำเนินการ

ส่วนนายสุทัศน์   อายุ 57 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงและปลานิลในกระชังริมแม่น้ำท่าตะเภา ซึ่งอยู่ห่างจากเรือดูดทรายประมาณ 500 เมตร   เผยว่า ตนเลี้ยงปลากะพง 6 กระชัง  ปลานิล 10 กระชัง ปลาเริ่มทยอยตายกว่า 100 ตัว ปัญหาจากเรื่องน้ำเสียจากเรือขุดดูดทราย หากยังขุดทรายอีกต้องเสียหายอีกเยอะโดยเฉลี่ยมูลค่าปลากะพงพร้อมจำหน่ายกระชังละ 1 แสนบาท  ส่วนที่ปลาตายเสียหายไปแล้วอยากให้หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ

สำหรับโครงการดังกล่าวตรวจสอบพบว่า เป็นโครงการขุดลอกคลองท่าตะเภา ของสำนักงานเทศบาลเมืองชุมพร  หลังจากนั้นจึงได้ประสานไปยังนายศรีชัย  วีระนรพานิช นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว โดยกล่าวว่า  ตามที่เทศบาลเมืองชุมพรมีโครงการขุดลอกคลองแม่น้ำท่าตะเภานั้น เทศบาลไม่ได้ขุดลอกคลองมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ทางเทศบาลได้รับการร้องขอจากประชาชนในเขตเทศบาลว่าควรขุดลอกคลองเพราะเห็นว่ามีความตื้น และขุดลอกให้เกิดความสวยงาม หลังจากขุดลอกคลองแล้วอาจจะทำตลาดน้ำเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้  

ทั้งนี้ ทางเทศบาลจึงดำเนินการตามที่ชาวบ้านต้องการ  หลังจากนั้นได้ปรึกษาผู้ว่าฯและดำเนินการตามระเบียบในการขออนุญาตหาผู้รับจ้าง โดยการขุดครั้งนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของเทศบาลแต่เอาทรายกับค่าแรงมาหักกัน แต่เมื่อส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในเรื่องนี้ทำความเข้าใจกัน อาจจะให้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังมาพูดคุยกัน

ด้านนายกเทศมนตรี รับว่าก่อนขุดลอกคลอง มีการทำประชาคมแต่ไม่ได้เชิญผู้เลี้ยงปลามาพูดคุย เชิญเพียงกลุ่มชุมชนที่ขุดลอก ถามว่าวันนี้เกิดความเสียหายมีการเยียวยาหรือจ่ายค่าชดเชยอย่างไรบ้าง นายกเทศมนตรี ตอบว่าหลังจากรับทราบความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้วจึงโทรไปหาผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างทราบแล้วว่าเกิดเดือดร้อนกับผู้เลี้ยงปลาในกระชังและมีข้อตกลงกันแล้วว่าจะจ่ายค่าเสียหาย พร้อมกับมีคำสั่งให้ผู้รับจ้างขุดลอกคลองหยุดขุดชั่วคราว จนกว่าจะทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงปลาและให้จับปลาก่อนแล้วค่อยดำเนินการขุดต่อเพื่อไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียผลประโยชน์หรือเกิดการเสียหาย” นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพร กล่าวชี้แจง

ส่วนน.ส.นุช  ตัวแทนผู้ประกอบการเรือขุดลอกคลองดูดทราย  เดินทางมาเพื่อขอชี้แจงว่า ทาง บริษัทพบว่ามีผู้เสียหายจากผลกระทบการขุดดูดทรายจำนวน 1 ราย และได้เจรจาแล้ว โดยรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดตามข้อเรียกร้อง ซึ่งรับว่าก่อนการดำเนินการทางบริษัทไม่ได้เชิญเขามาตกสำรวจไป ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะว่าที่ทำไม่เคยมีปัญหาเลย แต่พอดีปีนี้น้ำน้อย ทำให้ปลาขาดออกซิเจน หลังจากนี้ทางบริษัทจะออกสำรวจผู้เลี้ยงปลาจำนวนเท่าไหร่ พร้อมกับทำหนังสือเชิญโดยมีนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชุมพรเป็นคนกลางเพื่อพูดคุยกันอีกครั้ง