ในระหว่างการบรรยายเรื่องกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชี้แจงถึงรายละเอียดร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ว่า ร่างแรกมี 67 มาตรา ที่เป็นของใหม่คือ การกำหนดให้คุณสมบัติ กกต.เข้มข้นขึ้น เช่น ต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เทียบเท่าระดับอธิการบดี อัยการ ผู้พิพากษา ติดต่อกัน 10 ปี ในทางวิชาการต้องอยู่ในระดับศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับบริหารงานการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยประสบการณ์แต่ละด้านสามารถนับรวมเวลากันได้ นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนอำนาจหน้าที่ที่ปรับใหม่ เช่น ให้กกต.เพียง 1 คนสามารถสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งระงับการเลือกตั้งได้ทันที หากพบว่า ไม่สุจริตยุติธรรม นายทะเบียนพรรคให้เปลี่ยนจากกกต.เป็นเลขาธิการสำนักงานกกต. สำหรับผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัด จะมีจำนวน 5-7 คน แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ โดย 2 คน มาจากคนในพื้นที่ ส่วนที่เหลือมาจากการสุ่มว่า ใครจะต้องไปลงพื้นที่ใดบ้าง มีอำนาจเฉพาะช่วงมีการเลือกตั้ง ไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทาง ต่อมานายนรชิต สิงหเสณี โฆษก กรธ. กล่าวว่า ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรธ.ไม่มีแนวคิดการรีเซ็ตหรือเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง เช่นเดียวกับคณะกรรมการองค์กรอิสระ กรธ.ก็ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ ภาพรวมของกฎหมายพรรคคือ ทำให้จัดตั้งง่ายขึ้น สำหรับเจตนารมย์ขอให้สนช.ดูในบทเฉพาะกาลคือ ให้พรรคจดทะเบียนตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 ยังอยู่ แต่ต้องมีจำนวนสมาชิก จำนวนสาขาพรรค และตัวแทนสมาชิกประจำจังหวัด ครบตามที่กฎหมายกำหนด และมีทุนประเดิมแรกเริ่มคือ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคลงขันคนละอย่างน้อย 2,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่กฏหมายบังคับใช้ หากไม่ดำเนินการ หรือไม่ทัน ส่งผลให้พรรคสิ้นสภาพ นายนรชิต กล่าวต่อว่า ส่วนมติพรรคหรือข้อบังคับให้เป็นไปตามเดิม พร้อมทั้งจัดทำรายการบัญชีทรัพย์สินพรรค หากมีส่วนที่ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก ให้แก้ไขภายใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการหรือไม่ทัน มีโทษตัดสิทธิการส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งที่จะถึง นอกจากนี้ยังระบุว่า ใครที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ให้นับเวลาถูกตัดสิทธิตามที่โทษกำหนดไว้จนครบ จึงกลับมามีสิทธิเหมือนเดิม จากนั้นเข้าสู่ช่วงซักถาม มีสมาชิกสนช.หลายราย ตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็นเริ่มจาก นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ถามถึงเจตนารมย์ของกรธ.ในกฎหมายลูก เมื่อส่งตัวร่างอย่างเป็นทางการมาจะมีการระบุให้ชัดหรือไม่ว่า ส่วนไหนแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาถูกสังคมวิจารณ์กันภายหลังหากต้องตั้งกมธ.ร่วม จึงอยากให้มีการประสานเรื่องเนื้อหากฎหมายลูกให้สนช.ทราบบ้าง และในกรณีคุณสมบัติของกกต. ชุดปัจจุบันจะชี้ขาดอย่างไร กกต.บางคนที่มาทางวิชาการ ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่ไม่ตรงกับหลักของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีคุณสมบัติด้านอื่น คือจากประสบการณ์จากภาคประชาสังคม จะโอนมาแทนเพื่ออยู่ต่อได้หรือไม่ ส่วนสมาชิกสนช.สายทหาร เช่นพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ซักถามในประเด็นอำนาจของการยุบพรรคการเมือง การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนมติถอดถอนของสนช.อดีตส.ส.และอดีตรัฐมนตรี ที่ดำเนินการตามสำนวนของป.ป.ช.จะมีผลอย่างไร นายนรชิต ชี้แจงว่า จะนำข้อสังเกตไปให้ที่ประชุมกรธ.พิจารณาว่า การส่งมอบร่างกฎหมายลูกจะมีการกำหนดประเด็นหลักการสำคัญมาให้สนช.ด้วยหรือไม่ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ส่วนคุณสมบัติกกต. ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องพ้น โดยกรธ.กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา 203 ทำหน้าที่สรรหาเพิ่มอีก 2 คน ให้ครบ 7 คน แล้ววินิจฉัยว่ากกต.เดิมมีใครขัดคุณสมบัติหรือไม่ ถ้าชี้ว่าขัด ก็อยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะสรรหากกต.คนใหม่มาแทน หากจะมีการโอนคุณสมบัติเข้าใจว่าอาจทำได้ แต่จะทำให้มีกระทบในสัดส่วนที่มีการโอนมา ในส่วนของอำนาจถอดถอนนั้นจะไม่มีในสภาสูงสภาล่าง แต่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ด้านนายอภิชาติ กล่าวเสริมว่า บทเฉพาะกาลกฎหมายกกต.กำหนดให้ กกต.ที่มีอยู่ตามฉบับ 2550 กำหนดให้ อยู่ต่อสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับฉบับใหม่ และขอยืนยันว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะถึงมือสนช.ในวันรุ่งขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แน่นอน