“กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอความร่วมมือคนไทยใช้กระทงที่มีขนาดพอเหมาะพอเพียง ร่วมกันลอยกระทง 1 กลุ่ม 1 กระทง หรือ 1 ครอบครัว 1 กระทง ขณะเดียวกันขอให้ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายง่าย ระวังการสร้างปัญหาขยะและมลพิษให้กับแหล่งน้ำ เผยสถิติลอยกระทงปีที่ผ่านมาสร้างขยะลงแม่น้ำคืนเดียวเกือบล้านชิ้น แนะ 4 แนวทางเดินตามรอย “พ่อ” รักษาแม่น้ำลำคลอง ชี้ต้องเลือกใช้วัสดุทำกระทงให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำ ประยุกต์หลัก 3Rs ลดความเสี่ยงการสร้างปัญหามลพิษ “นายสากล ฐินะกุล” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณ มีรากฐานแนวคิด คือ การใช้กระทงเป็นเครื่องบูชา เพื่อขอขมาพระแม่คงคาจากการที่เราได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการปลูกฝังแนวคิดด้านการส่งเสริมการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเคยรับสั่งเสมอถึงการให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์แม่น้ำลำคลองทั่วประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ อันเกิดจากปัญหาการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล จนบางแห่งถึงขั้นเน่าเสียกลายเป็นแหล่งมลพิษ ในปี 2558 พบว่า มีจำนวนกระทงรวม 825,614 ใบ เป็นกระทงจากใบตองร้อยละ 91.4 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแม้จะสะท้อนว่า ประชาชนหันมานิยมใช้กระทงจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าในเทศกาลลอยกระทงแต่ละปีเราได้สร้างขยะให้กับแหล่งน้ำพร้อมกันทีเดียวถึงเกือบ 1 ล้านชิ้นซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำอย่างยิ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังเกิดกับทุกจังหวัดทั่วประเทศ การลอยกระทงก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่อาจทำให้แหล่งน้ำทรุดโทรม เพราะแม้ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่จะหันมาใช้กระทงใบตองหรือวัสดุธรรมชาติ แต่หากเลือกวัสดุที่ไม่เหมาะสมกับแหล่งน้ำก็อาจเป็นการสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสัตว์น้ำได้ ขณะเดียวกันจากปริมาณกระทงที่มีคนนำมาลอยพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเก็บกวาดและกำจัดได้ทั้งหมด จึงเท่ากับเป็นการทำให้เกิดขยะตกค้างขึ้นมาในแหล่งน้ำนั่นเอง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า ดังนั้นในโอกาสวันลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง ลดขนาดกระทงให้พอเหมาะ ร่วมกันลอยกระทงเป็นกลุ่มต่อหนึ่งกระทง และใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายง่าย ระวังการสร้างปัญหาขยะและมลพิษให้กับแหล่งน้ำ และเพื่อให้สามารถลอยกระทงให้ได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักเกณฑ์การเลือกกระทงง่ายๆ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.วัสดุที่นำมาทำกระทงต้องมีความเหมาะสมและสร้างมลพิษให้แก่แหล่งน้ำน้อยที่สุด 2.เลือกใช้กระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อาทิ หากลอยในแม่น้ำหรือสระน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำเยอะๆ ควรเลือกกระทงขนมปังไม่ต้องใส่สีหรือตกแต่งด้วยวัสดุอื่นเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ หรือหากลอยกระทงในแหล่งน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เช่น สระ บ่อ บึง หนองน้ำ ที่ปลาไม่เยอะ การใช้กระทงขนมปังอาจก่อปัญหาเพราะเมื่อขนมปังเปื่อยยุ่ยจมลงพื้นบ่อน้ำจะทำให้จัดเก็บได้ยากและทำให้น้ำเสีย จึงควรเลี่ยงมาใช้กระทงใบตองหรือวัสดุอื่นแทน 3.นำหลัก 3Rs มาประยุกต์ใช้ คือ 1) Reduce โดยการลดปริมาณขนาดของกระทง ใช้กระทงที่พอเหมาะไม่ใหญ่จนเกินไป มีการลอยกระทงร่วมกันแบบกลุ่ม เช่น 1 ครอบครัว 1 กระทง หรือ 1 กลุ่ม 1 กระทง และการตกแต่งกระทงให้น้อยลงเพราะเป็นการลดการใช้วัสดุ ประหยัดทรัพยากร และลดปริมาณการกำจัดทำลายด้วย 2) Reuse โดยการใช้วัสดุตามธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่ายที่เหลือใช้แล้วมาทำกระทง เช่น ผักสวนครัว 3) Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ใช้กระทงจากวัสดุใบตองและหยวกกล้วย ซึ่งเมื่อลอยแล้วก็สามารถคัดแยกไปหมักทำปุ๋ยชีวภาพเป็นประโยชน์ต่อไป และ 4.ควรใช้วัสดุแบบเดียวกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อความสะดวกในการจัดการปลายทาง คือ ถ้าเป็นกระทงแบบเดียวกัน การจัดการจะง่าย และจัดการได้ทีเดียวทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการคัดแยก “ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่ดีงามของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่ดีงามและสอดคล้องแนวคิดการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงควรพิจารณาเลือกใช้กระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุที่เหมาะสมที่สุด และลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามควบคู่ไปกับดูแลรักษาแหล่งน้ำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว