เมื่อวันที่ 14 พ.ย. เวลา 09.09 น.ที่อากาศยาน2 กองบิน 6 พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเทิดพระเกียรติ มหาราชา พระบิดาแห่งฝนหลวง และถวายสัตย์ปฏิญาณสืบสานพระราชดำริของหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ กำลังพล ข้าราชการ ลูกจ้าง สังกัดกองทัพอากาศ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง พล.อ.อ.จอม ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 14 พ.ย. ปี 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ประทับพระที่นั่งเสด็จภาคอีสานเพื่อตรวจเยี่ยมราษฎรพบว่ามีความแห้งแล้งมากและทรงมีพระราชดำริว่าจะทำอย่างไรที่ใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์บังคับให้เมฆตกเป็นฝน จึงได้เกิดเป็นฝนหลวงขึ้นมาโดยทางกองทัพอากาศเองได้เข้าร่วมในโครงการพระราชดำริฝนหลวงมามากกว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 2515 เนื่องจากเรามีเครื่องบินขนาดใหญ่ สามารถบินสูงและพร้อมที่จะได้รับการดัดแปลงเพื่อใช้ในฝนหลวงเพื่อตอบสนองพระราชดำริอย่างเต็มที่ "เมื่อครั้นที่พระองค์ท่านมีพระชนม์ชีพ เมื่อถึงฤดูทำฝนหลวง พระองค์ท่านจะติดตามความก้าวหน้าทุกวัน ทรงมีข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำต่อเนื่องตลอดมา เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเป็นห่วงปวงชนชาวไทยและอยากให้มีฝนพอเพียง และในวันนี้เราจัดงานเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า กองทัพอากาศตั้งใจสืบสานปณิธานพระองค์ท่านและ ปฏิญาณตัวจะดำเนินโครงการฝนหลวงต่อไป รวมถึงงานวิจัยพัฒนาที่ทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราทำเต็มที่" พล.อ.อ.จอม กล่าว ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งถือเป็นวันสำคัญยิ่งในการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทย รวมถึงเป็นวันสำคัญที่จะเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถที่พระองค์ทรงคิดค้นศาสตร์และวิธีการสำหรับทำฝนหลวงจนสำเร็จเป็นรูปธรรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งในปี 2515 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง รัฐบาลจึงได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริ โดยให้กองทัพอากาศสนับสนุนเครื่องบินและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น กองทัพอากาศจึงได้จัดส่งเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2หรือ บ.ล.2 (C-47) จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4 หรือ บ.ล.4 (C-123) จำนวน 1 เครื่อง เข้าร่วมโครงการพระราชดำริฝนหลวง ซึ่งนับว่าเป็นการบินทำฝนหลวงครั้งแรกของกองทัพอากาศ ทั้งนี้กองทัพอากาศ ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการพระราชดำริ จึงได้พิจารณาดัดแปลงเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4ก หรือ บ.ล.4ก (C123K) จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 9 หรือ บ.ล.9(NOMAD) จำนวน 3 เครื่อง เพื่อเข้าร่วมสนับสนุนโครงการพระราชดำริฝนหลวง และได้ร่วมโครงการวิจัยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการทำฝนในเมฆเย็นที่ระดับความสูงเกิน 20,000 ฟุต โดยได้พิจารณานำเครื่องบินโจมตีแบบที่ 6 หรือ บ.จ.6 (A-37) เพื่อร่วมโครงการ วิจัย จำนวน 2 เครื่อง ปัจจุบัน กองทัพอากาศได้สนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยจัดเตรียมอากาศยานจำนวน 12 เครื่องประกอบด้วย เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก จำนวน 4 เครื่อง, เครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ 2 จำนวน 6เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 จำนวน 2 เครื่อง นอกจากนี้ยังสนับสนุนฐานปฏิบัติการให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเตรียมความพร้อมไว้ทั่วประเทศ ทั้งหมด 10 กองบิน และโรงเรียนการบิน สำหรับเที่ยวบินและพื้นที่ปฏิบัติการฝนหลวงนั้น จะขึ้นอยู่กับการร้องขอจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดพื้นที่ และปริมาณสารฝนหลวงที่ต้องใช้ ตลอดจนวิเคราะห์สภาพแวดล้อมว่าจะเอื้ออำนวยในการทำฝนหลวงหรือไม่ ทั้งนี้การบินทำฝนหลวงเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก เนื่องจากปกติแล้ว นักบินทุกคนจะต้องฝึกและทำการบินหลีกเลี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบินแต่การบินทำฝนหลวงจะบินในลักษณะดังกล่าวไม่ได้นักบินจำเป็นต้องบินเข้าหาเมฆ ซึ่งเป็นการบินที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือเข้าใกล้พายุฝนฟ้าคะนองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดังนั้นในการขึ้นบินแต่ละเที่ยวบิน นักบินและเจ้าหน้าที่ ต้องวางแผน เตรียมการด้วยความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด โดยใช้ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่มีอยู่ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจฝนหลวงประสบความสำเร็จ และปลอดภัย โดยผลการปฏิบัติการบินฝนหลวงของกองทัพอากาศ โดยเฉลี่ยจะทำการบินปีละประมาณ 700 เที่ยวบิน คิดเป็นเวลาบินเฉลี่ยประมาณ 800 ชั่วโมงบิน ใช้สารฝนหลวงประมาณ 1,000 ตันต่อปี ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ปฏิบัติภารกิจยับยั้งพายุลูกเห็บ จำนวน 200 นัดต่อปี และพลุสารดูดความชื้น จำนวน 100 นัดต่อปี ซึ่งผลการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดี เป็นผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน และปริมาณน้ำฝนในพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งได้อย่างดียิ่ง และยังสามารถสามารถบรรเทาภัยอันอาจจะเกิดจากพายุลูกเห็บได้อีกด้วย