ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ภาพหนึ่งที่ดูคุ้นตาคนไทยกันดีคือภาพพระเสโท (เหงื่อ) หยดเล็กๆ ตรงปลายพระนาสิก (จมูก) ด้วยภาพนี้ ทำให้ได้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงเหนื่อย ทุ่มเทพระวรกายมาตลอดช่วงการครองราชย์ 70 ปี เพื่อประโยชน์ผาสุกของพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร จากภาพหยดเหงื่อนี้ ทำให้นึกถึงภาพหยดน้ำเล็กๆ และถ้อยความประโยคหนึ่งในห้องจัดแสดง “ราชสกุลมหิดล” ที่หอแห่งแรงบันดาลใจ พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย ที่ว่า “เพียงหยดน้ำ หนึ่งหยดเล็กๆ ก็ส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนไหว แผ่ขยายยิ่งใหญ่ กว้างไกล ไม่มีที่สิ้นสุด ราชสกุลมหิดล เปรียบได้ดังหยดน้ำที่หยาดลงบนแผ่นดิน สร้างความฉ่ำเย็น ให้ชนทั้งมวล” ถ้อยความประโยคบนแผ่นป้ายพร้อมกับเสียงหยดน้ำหยดลงบนแผ่นภาพน้ำในอ่าง แล้วหยดน้ำเล็กๆ นั้นส่งแรงกระเพื่อมแผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไป มีกิ่งก้านไม้สาขารองรับ สื่อสารบอกเล่าเรื่องชีวิตของบุคคลซึ่งเปรียบได้ดังหยดน้ำทิพย์ที่หยาดชุ่มทุกหัวใจในแผ่นดิน ส่งแรงกระเพื่อมไหวให้ผู้คนได้ดำรงชีพบนพื้นฐานแห่งความดีงาม เพื่อชีวิตที่พอเพียงและยั่งยืน หอแห่งแรงบันดาลใจนี้ มีโอกาสไปชมนิทรรศการเมื่อสามปีที่แล้ว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศึกษา ถ่ายทอดเรื่องราวในราชสกุลมหิดล อันประกอบด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวดอยตุง ได้รู้จักและเข้าใจถึงแนวพระราชดำริของสมาชิกทั้งห้าพระองค์ หอแห่งแรงบันดาลใจ เดิมเป็นหอพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ต่อมามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์ ได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนเนื้อหานิทรรศการที่ครอบคลุมเรื่องราวของราชสกุลมหิดล และแหล่งเรียนรู้การแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง ซึ่งเป็นพื้นที่ทรงงานสมเด็จย่า ในหลวงทรงรับสั่งว่าทำอย่างไรจะไม่ให้คนลืมแม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จึงเป็นที่มาของหอแห่งแรงบันดาลใจ (อมรรัตน์ บังคมเนตร เจ้าหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้อาวุโส ศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บรรยายและนำชม มี.ค. 2556) ห้องจัดแสดงนิทรรศการในหอฯ ไม่ได้กว้างใหญ่นัก แต่องค์ประกอบของการจัดวางเรื่องราวครอบคลุม เมื่อเดินผ่านประตูเข้าห้องที่ 1 ราชสกุลมหิดล เดินไปตามช่องทางเดินสู่ห้องที่ 2 พระราชประวัติสมเด็จย่า ห้องที่ 3 การกลับคืนสู่มาตุภูมิของราชสกุลมหิดล ห้องที่ 4 ความทุกข์ยากของประชาชน ห้องที่ 5 แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างยั่งยืน ห้องที่ 6 แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง และห้องที่ 7 ห้องแห่งแรงบันดาลใจ นิทรรศการนอกจากสื่อเรื่องราวความผูกพันของราชสกุลมหิดลแล้ว ยังมีมุมทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวงรัชกาลที่ 9” นับตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ หาใช่ความสุขสบายไม่ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพระมหากษัตริย์ ตลอดพระชนม์ชีพทรงงานหนักที่สุด ไม่เคยห่างจากพสกนิกร เพราะเพื่อที่บรรเทาความทุกข์ยากประชาชนของพระองค์ ดังข้อความบนแผ่นป้าย “สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น” “ในหลวง” เสด็จทุกแห่งในพื้นที่ทุรกันดาร พร้อมอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่พระองค์ทรงใช้งาน จนเป็นภาพที่พสกนิกรคุ้นตากันดี แผนที่ วิทยุสื่อสาร ดินสอ และกล้องถ่ายรูป สะท้อนถึงหลักการและวิธีการทรงงาน มุ่งทำความ “เข้าใจ เข้าถึง เข้าพัฒนา” เพื่อแก้ปัญหาของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า มีอยู่ทั่วทุกระแหงตั้งแต่คนบนภูเขา บนที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม จนจรดชายฝั่งทะเล ดังเห็นได้โครงการพระราชดำริฯ กว่า 4,400 โครงการ หนึ่งในนี้คือแบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง เมื่อสมเด็จย่าเวลานั้นมีพระราชดำริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อแก้ไขปัญหาของดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมทองคำอย่างครบวงจร ด้วยการ “ปลูกป่า..ปลูกคน” ควบคู่กันไป โดยศึกษาจากโครงการพระราชดำริ นำมาพัฒนาพื้นที่ดอยตุง เป็นโครงการพัฒนาที่ “แม่เรียนจากลูก” ในทางสายเดียวกัน “ลูกเรียนจากแม่” ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการใช้ชีวิตพอเพียงของในหลวง ดังแลเห็นได้โดยประจักษ์แจ้ง หอแห่งแรงบันดาลใจ นอกจากสื่อเรื่องราวของสมาชิกราชสุกลมหิดลทั้งห้าพระองค์ ทรงมีต่อกันและกันแล้ว ยังได้สื่อถึงการเรียนรู้พระราชจริยวัตร ปรัชญา หลักการทรงงานที่เรียบง่าย พระวิริยะอุตสาหะที่มุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย สร้างประโยชน์สุขแก่แผ่นดิน ที่ต่างทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวดอยตุง ได้เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงแนวพระราชดำริ ให้เห็นถึงหยดน้ำเล็กๆ หยดหนึ่งที่หลั่งริน ดับร้อนลงในยามแผ่นดินมีทุกข์ อีกตัวนิทรรศการช่วยให้ผู้มาเยี่ยมชมเกิดแรงบันดาลใจ จุดประกายให้ได้คิดดี มุ่งมั่นประพฤติดี ปฏิบัติดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของแผ่นดินไทย หอแห่งแรงบันดาลใจ สถานที่ที่เปิดประตูได้เรียนรู้ศึกษาสมาชิกราชสุกลมหิดลทั้งห้าพระองค์ หยดน้ำทิพย์ หยาดชุ่มทุกหัวใจในแผ่นดินไทย ร่วมสมัย / เนติ โชติช่วงนิธิ หมายเหตุ ภาพ2,5ถ่ายปี2556