วันที่ 14 ก.พ. 67 นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยความคืบหน้าหลังยื่นคําร้องต่อศาลขอประกันตัว น.ส.ทานตะวัน หรือตะวัน  นายณัฐนนท์ หรือแฟรงค์ และนายนภสินธุ์ หรือสายนํ้า ว่า ล่าสุดศาลอาญามีคําสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “ตะวัน-แฟรงค์” ในคดี ม.116 บีบแตรป่วนขขวนเสด็จ โดยให้เหตุผลว่าข้อหาตาม ม.116 เป็นข้อหาร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงและเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ยําเกรงต่อกฎหมาย หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงจะเกิดความไม่เรียบร้อยและเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน ส่วนนายนภสินธุ์ หรือสายนํ้า ผู้ต้องหาในคดีสนับสนุนพ่นสีกําแพงวัดพระแก้ว ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 35,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามก่อความวุ่นวายหรือกระทําการใดๆในลักษณะเดียวกันอีก

ส่วนเรื่องการยื่นขอประกันตัวใหม่หลังจากนี้จะต้องสอบถาม “ตะวันและแฟรงค์” ก่อน ว่ามีความประสงค์จะยื่นประกันตัวหรือจะอุทธรณ์คำสั่งหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทั้งคู่ตั้งใจว่าจะไม่ยื่นประกันตัวแต่ทางญาติและทนายแนะนําให้ยื่นขอประกันตัว ส่วนเรื่องที่ตํารวจยื่นถอนประกันตัว “ตะวัน” ในคดีอื่นก่อนหน้านี้นั้น เบื้องต้นทราบว่าเป็นตํารวจของ สน.ปทุมวัน และ สน.นางเลิ้ง แต่ยังไม่ทรายรายละเอียด เพราะ “ตะวัน” ยังไม่ได้รับหมาย

นอกจากนี้ ทนายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่าสำหรับคำสั่งศาลที่ไม่ได้ให้ประกันตัว “ตะวัน-แฟรงค์” นั้น ส่วนเห็นว่าความผิดตามมาตรา 116 นั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งเทียบไม่ได้กับอัตราโทษของความผิดตามมาตรา 112 ที่ผู้ต้องหาเคยถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้ ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด จึงทำให้เกิดความแปลกใจกับคำสั่งศาลในวันนี้ 

ต่อมาเมื่อเวลา 16.55 น. รถเรือนจําได้คุมตัว “ตะวัน-แฟรงค์” เพื่อนําตัวส่งต่อไปยังเรือนจํา โดยตะวัน จะถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง  ส่วนแฟรงค์ จะถูกส่งตัวไปที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพ ซึ่งระหว่างรถเคลื่อนตัวออกจากศาลอาญานั้น ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นทั้งคู่ได้ทําการชู 3 นิ้ว ออกมาจากภายรถ

หลังจากนั้นนายนภสินธุ์ หรือสายนํ้า ได้เดินลงมาจากศาลพร้อมจดหมายของ “ตะวัน” ที่เขียนว่า “นี้คือคําตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไปก้าวขาเข้าเรือนจํา เราไม่เหลืออะไร นอกจากร่างกายที่เรามีไว้ต่อสู้  หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลืออยู่ต่อสู้ต่อไป หนูและแฟรงค์จะอดนํ้าและอาหารเพื่อประท้วง 3 ข้อเรียกร้อง โดยจะไม่มีการยื่นประกันตัว 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก 3.ประเทศไทยไม่ควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของโลก“