“มีชัย” ยันไม่รีเซ็ตกกต.แต่ให้ดูคุณสมบัติตามร่างรธน.ใหม่ รอถก “กพ. - กพร.” ปมเจ้าหน้าที่ กกต.ขอเป็นขรก. แย้มใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัด สกัดการเมืองท้องถิ่นครอบงำ เตรียมส่งร่างก.ม. 2 ฉบับแรก ต่อ สนช.หลังรธน.ประกาศใช้ หวั่นส่งก่อนเกิดปัญหา เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 พ.ย. 59 ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรธ.ในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า หากกกต.ชุดเก่าไม่ขาดคุณสมบัติก็ทำหน้าที่ต่อได้ แต่ต้องสรรหากกต.เพิ่มอีก 2 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งต้องรีบทำให้เสร็จเพื่อให้ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งนี้ การที่กรธ.ไม่ได้รีเซ็ตกกต.ใหม่ทั้งหมด แม้บางคนจะคุณสมบัติไม่ครบ เพราะเป็นสิทธิของเขา แต่คนที่คุณสมบัติไม่ครบก็ต้องรับสภาพ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีทางแก้ไขในประเด็นนี้แล้ว อีกทั้งทุกองค์กรก็อยู่ในสภาพเดียวกันตามรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนคุณสมบัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรธ.กำลังพิจารณาว่าสามารถผ่อนเรื่องอะไรได้บ้างเท่าที่จะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องระยะเวลา อาจนับต่อเนื่องได้ สมมติถ้าเคยเป็นมา 2 ปี ทำงานเรื่องนี้มาแล้ว ก็อาจจะพออนุโลมได้ โดยคาดว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยกกต. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง รวมถึงคุณสมบัติกรรมการป.ป.ช.จะได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ และจะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เพราะเกรงว่าหากส่งไปก่อนจะเกิดปัญหา ผู้สื่อข่าวถามว่า เจ้าหน้าที่กกต.ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นข้าราชการ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าเป็นข้าราชการจะตกอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะทำให้ขาดความเป็นอิสระ แต่เจ้าหน้าที่อยากได้สิทธิแบบข้าราชการ ทางกรธ.ก็กำลังดูว่าหากไม่เป็นข้าราชการ แต่ได้สิทธิเทียบเท่ากันจะเป็นไปได้หรือไม่ โดยจะเชิญคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เข้าร่วมประชุมกับกรธ.ว่าจะปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่กกต.เป็นข้าราชการได้หรือไม่ และทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหา เพราะเดิมกกต.สามารถกำหนดจำนวนเจ้าหน้าที่และเงินเดือนได้เอง แต่หากเป็นข้าราชการต้องไปยึดโยงกับรัฐตรงนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่ “ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป.ป.ช. เป็นข้าราชการตั้งแต่ต้น เพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กกต.เป็นฝ่ายที่จัดการการเลือกตั้ง ถ้าต้องอยู่ภายใต้อาณัติรัฐมนตรีจะเกิดปัญหาหรือไม่ แม้ว่ากรธ.จะเห็นใจ แต่ก็ต้องพยายามดูทุกแง่มุม โดยเฉพาะวัตถุประสงค์จะบรรลุได้หรือไม่”นายมีชัย ระบุ เมื่อถามว่า ผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่อาจมาแทนกกต.จังหวัด เป็นข้อสรุปของกรธ.แล้วหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ค่อนข้างได้ข้อสรุปแล้วว่าให้มีที่มาจากการให้กกต.ขึ้นบัญชีไว้ เวลาจะทำงานก็จับฉลาก เพื่อลงพื้นที่ ป้องกันการล็อบบี้ แต่ยังสามารถปรับแก้ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการกำหนดให้กกต.จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย เหมือนกับว่ากกต.มีงานทำทั้งปี ทำให้กกต.ต้องส่งคนไปฝังตัวในท้องถิ่น จนเกิดความคุ้นชิน สนิทสนมกับคนในพื้นที่ กรธ.จึงกำหนดให้กกต.จัดการเลือกตั้งเฉพาะระดับประเทศ ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ให้คนท้องถิ่นทำและให้กกต.เป็นผู้ควบคุมเฉพาะเวลามีการเลือกตั้งเท่านั้น