สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ – ‘รมว.สธ.’ ชี้มุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชน –มีมาตรการเยียวยาชาวไร่ยาสูบ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 59 ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ครั้งที่ 71/ 2559 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานในการประชุมเพื่อดำเนินการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ชี้แจง โดย นพ.ปิยะสกล ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า โดยที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ได้ใช้บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนของผู้ไม่สูบบุหรี่ ยังไม่สัมฤทธิ์เท่าที่ควร ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น จึงควรสมควรปรับปรุงกฎหมาย และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีสมาชิก สนช. อภิปรายจำนวนมาก โดยสมาชิกเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่จะเพิ่มอายุเยาวชนที่จะเข้าถึงบุหรี่จาก 18 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งถือเป็นมาตรการคุ้มครองเยาวชนที่จะไม่ให้เกี่ยวข้องกับบุหรี่ แต่มีความเป็นห่วงเรื่องการสุดโต่งของการบังคับใช้กฎหมาย โดยพล.อ.ดนัย มีชูเวท อภิปรายว่า ตนอยากทราบว่า ได้หามาตรการรองรับชาวไร่ยาสูบอย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งตนขอเสนอให้จัดเป็นกองทุนหรือเงินทุนที่เยียวยาชาวไร่ยาสูบ หรือหาวิธีส่งเสริมให้ชาวไร่ยาสูบ ปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีราคาใกล้เคียงกับยาสูบด้วย ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้เด็กอายุ 18 ปี ขายบุหรี่นั้น ตนมองว่า อาจจะฝืนแนวทางปฏิบัติของคนไทยในชนบท เพราะหากพ่อแม่ไม่สามารถดูแลร้านค้าได้ มักจะมอบหมายให้ลูกหลานขายของแทน รวมทั้งบุหรี่ด้วย ทางด้าน นายมณเฑียร บุญตัน กล่าวว่า ควรหามาตรการสื่อความหมายถึงพิษภัยของบุหรี่ ให้กับผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ให้สามารถเข้าใจได้ อีกทั้ง เสนอให้มีมาตรการที่ควบคุมหรือจำกัดพื้นที่การปลูกยาสูบ และมาตรการที่ป้องกันเยาวชนผู้หญิงที่มีสัดส่วนการสูบบุหรี่มากขึ้น ส่วน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ระบุว่า ตนอยากให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ค้ายาสูบรายย่อยว่า จะมีการดูแลอย่างไร รวมทั้ง ผู้ผลิตยาเส้น ยามวน จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนในร่างกฎหมายดังกล่าว ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มุ่งที่จะคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ให้ข้องเกี่ยวกับบุหรี่ เพราะที่ผ่านมา บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถิติของผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่มีจำนวนอายุน้อยลงเรื่อยๆ อีกทั้ง ควรจะมีมาตรการที่ควบคุมยาสูบในรูปแบบอื่นๆ นอกจาก รูปแบบมวนอีกด้วย จากนั้น นพ.ปิยะสกล ชี้แจงว่า ตนขอขอบคุณสมาชิกสนช. ที่อภิปรายร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเชื่อว่า หากร่าง พ.ร.บ. ออกใช้บังคับแล้ว น่าจะทำให้สุขภาวะของคนไทยดีขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาที่สมาชิกฯ มีความกังวลก็คือ การเยียวยาชาวไร่ยาสูบนั้น ก็ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้ว ซึ่งจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ มุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชน จากผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะตนเชื่อว่า จิตใจของพ่อแม่ไม่อยากให้บุตรหลานของตนต้องมาสูบบุหรี่ ทั้งนี้ ขอให้สมาชิกสนช. ช่วยกัน ตัดทอนแก้ไขให้เหมาะสมด้วย จากนั้นสมาชิกได้ลงมติเห็นด้วย 159 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ทั้งนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 21 คน โดยมีเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาการทำงานทั้งหมด 60 วัน