ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อชาวกะเหรี่ยงบนดอยอินทนนท์ ที่ได้เสด็จทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียงต้นเดียว จนกลายมาเป็นผลผลิตกาแฟในโครงการพระราชดำริ ที่มีคุณภาพและรสชาติดีเยี่ยมหนึ่งเดียวในโลกปัจจุบันนี้ “ตรีสุคนธ์” ขอนำเข้าสู่บทบันทึก “ตามรอยพระยุคลบาท โดย พล.ต.อ วสิษฐ์ เดชกุญชร) ดังต่อไปนี้ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จดำเนิน(เดิน)เป็นระยะทางไกลเพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟที่รอดตายหนึ่งต้นบนดอยอินทนนนท์ เมื่อ 3 ธันวาคม 2513 “การเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และทรงเยี่ยมราษฎรในบางหมู่บ้านบนดอยอินทนนท์ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2513นั้น เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับพระยุคลบาทที่จะลืมไม่ได้ วันนั้น พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินินาถ เสด็จออกจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์เมื่อเวลา 10.20 น พระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เองเช่นเคยผมปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรถยนต์นำของตำรวจสันติบาล ซึ่งแล่นอยู่หน้ารถยนต์พระที่นั่ง มีรถยนต์ของตำรวจทางหลวงอีกจำนวนหนึ่งแล่นอยู่ข้างหน้ารถตำรวจสันติบาล การเดินทางโดยรถยนต์จากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ไปยังดอยอินทนนท์นั้น ถ้าดูในแผนที่จะรู้สึกว่าใกล้และน่าจะสะดวก แต่ที่จริงไกลโข ระยะทางจากพระตำหนักลงไปถึงเชิงดอยสุเทพประมาณ 17 กิโลเมตร จากเชิงดอยสุเทพรถต้องแล่นลงใต้ไปตามทางหลวงสายเชียงใหม่-จอมทอง อีกประมาณ 60 กิโลเมตร จึงจะถึงแยกทางขึ้นดอยอินนนท์ เลี้ยวขวาไปทางตะวันตกอีก 47 กิโลเมตร จึงจะถึงบนดอย ถนนส่วนนี้แล่นขึ้นเขาตลอด และบางแห่งนอกจากจะสูงชันแล้วยังคดเคี้ยวไปมาด้วย ขบวนรถพระที่นั่งไปถึงยอดดอยเมื่อเวลาเที่ยงครึ่งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรสถูปบรรจุอัฐิเจ้าอินทวิชายานนท์ อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แล้วจึงเสด็จไปประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน หลังพระกระยาหารกลางวัน ทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรต้นไม้ชนิดต่างๆ รวมทั้งม้อส (moss คือพืชขนาดเล็กสีเขียวหรือเหลืองไม่มีดอก ขึ้นเป็นพุ่มหนาอยู่ในที่ชื้นหรือบนต้นไม้หรือก้อนหิน โดยเฉพาะในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น) จนบ่ายสองโมงกว่าจึงเสด็จฯไปถึงบ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง (บนดอยอินทนนท์นั่นแหละ) คำว่า ขุน ในชื่อหมู่บ้านของภาคเหนือนั้นหมายถึงต้นแม่น้ำ ขุนกลางคือต้นแม่น้ำกลาง ซึ่งไหลลงไปยังเชิงดอย และเป็นน้ำตกแม่กลางอันลือชื่อของอำเภอจอมทอง ราษฎรบ้านขุนกลางเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ก่อนเสด็จฯถึง หน่วยแพทย์หลวงได้เดินทางไปถึงก่อนแล้วและตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านนั้นและจากหมู่บ้านใกล้เคียง ควรทราบด้วยว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรแทบทุกครั้งละแทบทุกแห่ง แพทย์หลวงสวนจิตรลดาตามเสด็จฯและปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ยกเว้นในกรณีเสด็จฯที่คับขันซึ่งทรงมีเวลาจำกัด ถึงบ้านขุนกลางบ่ายวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ เสด็จเข้าไปที่ประรำที่ทำการชั่วคราวของแพทย์หลวง ทอดระเนตรการทำงานของคณะแพทย์ แล้วจึงทรงพระกรุณาพระราชทานไก่พันธุ์บาร์พลีมัธรอค และไก่พันธุ์ เรด-โรสไอส์แลนด์ ให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ผสมกับไก่พื้นเมือง ลูกไก่ที่ได้จะแข็งแรงสมบูรณ์กว่าสายพันธุ์แท้ นอกจากไก่ ก็ยังพระราชทานผ้าห่มด้วย ขณะที่กำลังเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่นั้น ราษฎรชาวม้งกราบบังคมทูลขอพระราชทานไม้เพื่อเอาไปซ่อมบ้าน พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับ คุณปรีดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้จัดหาต้นไม้ที่กรมป่าไม้ตัดลงเพื่อสร้างถนนไปให้แก่ชาวม้งนั้นจำนวน 4 ต้น สิ่งที่ราษฎรขอพระราชทานต่างๆ บางทีก็แปลกประหลาดเกินคาด เช่นที่บ้านขุนกลางในวันนั้น มีราษฎรกราบบังคมทูลว่า ประสงค์จะรับการผ่าตัดเพื่อคุมกำเนิด ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา นำราษฎรเหล่านั้นไปส่งยังโรงพยาบาล และรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ คนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าจะหายทุกรายไป บางรายอาการหนัก เกินความสามารถของหมอ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลก็เคยมี การจัดการศพก็อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย ประทับอยู่ที่บ้านขุนกลางราวบ่ายสามโมงครึ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังอีกสองหมู่บ้าน ทรงเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิดและพระราชทานไก่กับผ้าห่มเช่นเดียวกัน ผมนึกว่าการเสด็จพระราชดำเนินคงจะสิ้นสุดลงเท่านี้ ปรากฏว่าผู้จัดการเสด็จฯคือ ม.จ ภีศเดช รัชนี กราบบังคมทูลเสด็จฯให้ทรงดำเนิน(เดิน)ต่อไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตรจนถึงไร่กาแฟที่ชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้ รวมเส้นทางพระราชดำเนินวันนั้นราวหกกิโลเมตร สิ่งที่ทำให้ให้ผมแทบจะระงับโทสะไว้ไม่ได้นั่นคือ ที่ไร่กาแฟแห่งนั้นมีต้นกาแฟให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเพียงต้นเดียวถ้าหากไม่อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ด้วยกัน ผมคงจะทูลต่อว่าท่านภีศเดชเอาแรงๆเสียแล้วที่เชิญเสด็จฯพระราชดำเนินและทำให้ทรงเหน็ดเหนื่อยเป็นระยะทางไกลเพื่อต้นกาแฟต้นเดียว เมื่อกลับไปถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์แล้ว ให้ระงับความรู้สึกไม่ไหว ผมจึงระบายเอากับเพื่อนผู้ร่วมงานทุกคน เหตุผลที่ต้องโมโหมากเป็นพิเศษ เพราะวันนั้นเสร็จจากการทอดพระเนตรต้นกาแฟต้นเดียวแล้ว พระองค์ต้องพระราชดำเนินกลับออกไปยังรถยนต์พระที่นั่งที่จอดไว้แยกทางขึ้นดอย และต้องทรงขับรถพระที่นั่งเองอีกจนถึงพระตำหนักด้วย พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ แล้วตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือที่โกรธท่านภีศเดช ผมกราบบังคมทูลตามความจริงว่าเป็นเช่นนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามต่อไปว่า ทราบหรือเปล่าเมื่อก่อนนี้กะเหรี่ยงที่ดอยอินทนนท์ประกอบอาชีพอะไร ผมกราบบังคมทูลว่า ทราบเกล้าฯว่ากะเหรี่ยงปลูกฝิ่น พระเจ้าอยู่หัวตรัสด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา (ไม่ทรงดุผม)ว่า แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจงชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อนเลย ที่กาแฟไม่ตายเสียหมดแต่ยังเหลือหนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าของกะเหรี่ยง จึงต้องไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปได้ว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น และทำให้ผมระลึกได้อีกครั้งหนึ่งถึงพระบรมราโชบายที่ไม่โปรดการเร่งรัดพัฒนา แต่โปรดให้ราษฎรเรียนรู้ด้วยตัวเองและพัฒนาตนเอง ปัจจุบันบนกะเหรี่ยงดอยอินทนนท์ สามารถผลิตกาแฟได้ผลงามไปทั้งดอย ทำรายได้ที่งดงามและเป็นกาแฟที่ให้รสชาติดีเป็นที่หนึ่งของโลกด้วย สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 8 คอลัมน์ “ตรีสุคนธ์” : สมุนไพรแห่งรอยยิ้ม