หกปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับพัฒนาการของเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองเด็กพัฒนามากที่สุดและเร็วที่สุด เมื่อเด็กอายุได้ 3 ปี สมองของพวกเขาก็สร้างจุดเชื่อมต่อเซลล์ประสาทขึ้นมาถึง 1,000 ล้านล้านจุด นับเป็นจำนวนที่มากเป็นสองเท่าของสมองผู้ใหญ่ซึ่งเป็นช่วงที่การศึกษาปฐมวัยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติโดยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟพบว่าร้อยละ 94 ของเด็กอายุ 3-5 ปีที่เข้าเรียนในหลักสูตรก่อนวัยเรียนมีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์ ในขณะที่มีเด็กวัยเดียวกันเพียงร้อยละ 77 ที่ไม่ได้เข้าเรียนในหลักสูตรก่อนวัยเรียนที่มีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์ นายฮิวจ์ เดลานีย์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า“สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุน้อย ๆ และประสบการณ์ที่ได้รับจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของพวกเขาเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี รวมทั้งโภชนาการและการส่งเสริมที่เหมาะสม หรือเด็กที่ประสบกับความรุนแรงหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตึงเครียด อาจได้รับผลกระทบเชิงลบที่จะติดตัวเด็กไปจนตลอดวัยผู้ใหญ่ของเขา”