บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน ประเทศอิหร่านสมัยโบราณคนสยามเราเรียกว่า “เปอร์เซีย” วัฒนธรรมเปอร์เซียแพร่หลายเข้ามาถึงสยามนานมาแล้ว วัฒนธรรมมุสลิมในประเทศไทยมีที่มาหลายสาย วัฒนธรรมสายเปอร์เซียเป็นสายสำคัญสายหนึ่ง ไทยและเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กับไทยมากว่า 400 ปี หากแต่ว่ามิได้พบหลักฐานเอกสารการมาของชาวเปอร์เซียที่ชัดเจนก่อนหน้า แต่ก็ยังพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น กษาปณ์ ดวงตรา ลูกปัด และประติมากรรมต่างๆ ที่ชาวเปอร์เซียได้ทิ้งไว้ ตลอดหลายร้อยปีชาวเปอร์เซียได้ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรม ภาษา สถาปัตยกรรม อาหารที่ตกทอดมาเนิ่นนานจนชาวไทยบางคนคิดว่าเป็นของไทยมาแต่ดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันลูกหลานชาวมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาแต่เปอร์เซียนั้น ได้รับวัฒนธรรมไทยมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันพวกเขากลับรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองได้น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชาวไทยมุสลิมกลุ่มอื่นในกรุงเทพมหานคร สันนิษฐานว่าเปอร์เซียกับสยามประเทศน่าจะมีสัมพันธ์ทำการค้ากันมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย โดยจากข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งนักปราชญ์ด้านโบราณคดีและภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า “บอซัร” หรือ “บาซาร์” ที่แปลว่า “ตลาด” และคำว่า “เหรียญ” ที่ไทยและเขมรใช้เรียกเงินตรานั้นก็มาจากคำว่า “เรียล” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย ต้น “กุหลาบ” เดิมก็ไม่ใช่ดอกไม้พื้นเมืองของเราเลยนะครับ แต่เป็นดอกไม้ที่มีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกก็สมัยอยุธยา ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า“กุหลาบ” ของสยามนี่เอง ที่ภาษาเปอร์เซียเรียกกุหลาบว่า “กุล๊อบ” ผ้าขาวม้าลายตารางก็นำมาจากชาวเปอร์เซียอีกเช่นกัน คำว่า “ขาวม้า” นั้นแผลงมาจากคำ “คะมา+บัน” ที่แปลว่าผ้าลายตาราง ที่เปอร์เซียใช้สำหรับคาดเอว เหน็บดาบยาวแบบแขกหรือเสียบกริชของมุสลิม ใช้แสดงยศศักดิ์ รวมทั้งหมวกทรงสูงสีขาว ที่ใส่ในราชสำนักที่เรียกกันว่า “ลอมพอก” และเสื้อครุยขุนนาง หลักฐานทางโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบ บ่งบอกว่าพ่อค้าชาวเปอร์เซียเคยติดต่อค้าขายกับอาณาจักรจามปา หมู่เกาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า อาณาจักรเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กับสยามประเทศมากว่า 400 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – 2148) เมื่อเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของ เฉกอะหมัด กูมี และน้องชายคือ มะหะหมัด ซาอิด ได้เข้ามาเทียบท่าที่ป้อมเพชร ตำบลท้ายคู โดยในจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค ระบุว่า “เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศ เมี่อจุลศักราช 964 ปีขาล จัตวาศก” ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2145 ชาวเปอร์เซียได้เข้ามาอาศัยขยายชุมชนและมีบทบาททางการค้า-การเมืองในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น บางคนดำรงตำแหน่งขุนนางระดับสูง และได้เป็นเจ้าเมืองสำคัญหลายเมืองพร้อมกันนั้น วัฒนธรรมเปอร์เซียก็มีอิทธิพลต่อคนไทยไม่น้อย โดยเฉพาะในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาทิ ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์ หรือเสื้อครุยของขุนนางในราชสำนักอยุธยา, “ลอมพอก” หรือหมวกยอดแหลมสูง และฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นรูปแบบที่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาโดยชาวเปอร์เซีย และยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ไทย งานสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และจิตรกรรม สยามก็ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซียอีกหลายชนิด ที่เห็นได้ชัดก็คือซุ้มทางเข้าประตู ช่องไฟและช่องโพรงสำหรับวางคบและตั้งตะเกียงไฟ อิทธิพลการทำช่องไฟแบบนี้เป็นของเปอร์เซียแน่ชัด รวมถึงรูปแบบช่องลมและโครงกรอบซุ้มประตู วิศวกรรมพวกนี้ไหล เข้าสู่สยาม จากครั้งโลกมุสลิมครองเปอร์เซีย สถานที่ๆ เราสามารถเห็นงานเหล่านี้ได้เด่นชัดที่สุดคือ พระนารายณ์ราชนิเวศในลพบุรี จากครั้งที่พระนารายณ์ ทรงให้สร้างพระราชวังที่ลพบุรีขึ้น งานวิศวกรรมแฝงแบบเปอร์เซียกระจายอยู่ทุกแห่ง และที่พบได้ที่พระราชวังแห่งนี้อย่างที่รู้กันคงไม่พ้นการเดินระบบประปา ท่อน้ำพุ ที่เชื่อมไว้ตลอดภายในพระราชวัง ซึ่งเป็นงานรูปแบบเดียวกับที่พระราชวังอาลิคาปู ในอิสฟาฮาน กลางจัตุรัสที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายละเอียดมากมายในพระราชวังดังกล่าว เดิมคาดกันว่าได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสหรือปอร์ตุเกส แต่เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัย และกลุ่มข้าราชสำนักที่มีอิทธิพลในราชสำนักสมัยพระนารายณ์มหาราชแล้ว ก็คือกลุ่มขุนนางจากเปอร์เซีย วัฒนธรรมเปอร์เซียที่ตกทอดอยู่ในสังคมไทยอีกด้านหนึ่งคือ “อาหาร” พอนึกถึง ข้าวหมก, ข้าวเปียกนม, ข้าวแขก, อาลัว, มัศกอด , ขนมไส้ไก่ ฯ ก็น้ำลายไหล ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงวัฒนธรรมเปอร์เซียว่า “ประเพณีเอาถ้วยชามจากเมืองจีนประดับโบสถ์วิหารนั้นปรากฏว่ามีในประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียก่อน และเริ่มจะมีขึ้นประปรายในกรุงศรีอยุธยาตอนท้าย มาเฟื่องฟูขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อตอนท้ายกรุงศรีอยุธยานั้นปรากฏว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมได้เผยแพร่เข้ามาจากอิหร่านมาก วรรณคดีอิหร่านก็มีผู้สนใจมาก เช่นมีหนังสืออิหร่านราชธรรม ตลอดจนบุคคลที่มาจากอิหร่านก็ได้เข้ารับราชการ เช่น บรรดาต้นตระกูลบุนนาคที่สืบเนื่องมาจากเฉกอะหมัด ท่านเหล่านี้มาเข้ารีตนับถือศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าเอกทัต เริ่มสร้างวัดวาอารามในศาสนาพุทธ บางทีจะเอาประเพณีที่ติดมาจากอิหร่านมาใช้ในการสร้างวัดบ้างดอกกระมัง ฉะนั้นการเอาถ้วยขามประดับวัดนั้นคงจะมิใช่ด้วยบังเอิญ เช่นเรือสำเภาล่มมีชามแตกมากหรืออะไรทำนองนั้น แต่คงจะเป็นเพราะเจตนาที่จะให้เห็นงามมากกว่า ถ้วยชามเหล่านั้นก็คงบรรทุกสำเภามาขายจากเมืองจีนตามปกติ คนไทยคงซื้อใช้ในฐานะเป็นถ้วยชามบ้าง และใช้ประดับวัดเอาบุญบ้าง” (ตอบปัญหาประจำวัน ฉบับวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๑) .......................... สิ่งสำคัญที่ตกทอดอยู่ในสังคมไทยก็คือ การแสดง “ลิเก” ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายที่มาของ “ลิเก” ว่า “ลิเก เป็นศัพท์ที่เพี้ยนมาจากดีเกร์ ซึ่งหมายถึงเพลงสวดอำนวยพรของพวกเจ้าเซ็น เริ่มด้วยพวกเจ้าเซ็นเข้าไปร้องดีเกร์ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวในวัง แล้วได้รับความนิยมจากผู้ที่ได้ยินมาก ว่าเป็นเพลงอันไพเราะ ต่อมาผู้มีบุญวาสนาในสมัยนั้น เมื่อมีงานที่บ้าน ก็มักจะหาพวกเจ้าเซ็นให้ไปร้องเพลงดีเกร์ที่บ้านของตนด้วย ความนิยมก็แพร่หลายออกไป คนไทยที่มีอาชีพในการแสดงหรือร้องรำทำเพลงได้เห็นความนิยมนี้ ก็มองเห็นช่องทางที่จะหากินได้ จึงจัดเป็นวงดีเกร์ขึ้น รับงานหาไปเที่ยวร้องเพลงในที่ต่างๆ คำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก ดูไปแล้วลิเกก็คือเพลงลูกทุ่งเมื่อร้อยปีมาแล้ว ต่อมาการร้องเพลงเฉยๆ ชักจะเรื้อรัง ลิเกก็เริ่มออกลูกบท ความนิยมก็แพร่หลายยิ่งขึ้นไปอีก การออกลูกบทนั้น เป็นการร้องอยู่ในเรื่องละครซึ่งคนดูรู้อยู่แล้ว ต่อมาลิเกก็แต่งตัวรำออกมาแสดงบทเช่นเดียวกับละครจริงๆ แต่รวบรัดกว่า ถึงใจคนดูยิ่งกว่า คนดูก็ดูแต่ลิเก เลิกดูการละเล่นอย่างอื่น เพราะไม่เข้มข้นถึงใจ สิ่งที่ลิเกมาขับไล่ออกไป จนกระทั่งบัดนี้สาบสูญไป ไม่มีเหลือก็คือละครนอก แต่ก่อนนั้น ละครนอกมีอยู่หลายคณะ แต่ละคณะก็มีนายโรงที่มีชื่อเสียง ละครนอกบางคณะร่ำรวยถึงขนาดสร้างวัดได้ เช่นวัดละครทำ นายโรงบางคนก็ร่ำรวยถึงขนาดสร้างวัดได้เช่นเดียวกัน เช่นวัดนายโรง แต่ทั้งหมดก็ต้องถึงกาลอวสาน เพราะลิเกมาไล่” (“สยามรัฐหน้า ๕” ฉบับวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๕)