ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ในความเป็นชีวิตสามัญของมนุษย์...เราอาจจะพบกับโศกนาฏกรรมแห่งชีวิต นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่เป็นเงื่อนไขของชะตากรรม.. เหตุบังเอิญ...หรือแม้กระทั่ง เป็นผลแห่งการกระทำที่สมควรการประณามของตนเอง..

ภาพแสดงแห่งชีวิตอันแทัจริงมักเป็นเช่นนี้..เป็นดั่งภาพแสดงที่ปะติดปะต่อกันคล้ายบาปเคราะห์ที่กระหน่ำโบยตีลีลาแห่งชีวิตของมนุษย์อยู่ซ้ำ...พร้อมบทบรรเลงแห่งเพลงศพที่โหดร้ายและเหงาเศร้า..

ผู้คนของวันนี้ต่างล้มตายทางจิตวิญญาณลงคนแล้วคนเล่า..เป็นผู้พ่ายแพ้ที่ถูกขึงพืดด้วยวิกฤตเหนือวิกฤต..มีเพียง “น้ำตาไหลเงียบ” ของตัวตนเท่านั่น..ที่คอยผ่อนปรนรอยบาดเจ็บของสิ่งที่เลวร้ายให้คลายจากไปจาก.. “วังวนสำนึก”

ทั้งหมดนี้ ...คือความหมายแห่งการสืบต่อ..จากชะตากรรมหนึ่งไปสู่ชะตากรรมหนึ่ง..ด้วยบทบรรเลงแห่งหายนะที่แสนจะอัปยศ..หายนะที่หัวใจแห่งชะตากรรมใดๆไม่อาจจะหนีรอดและเลี่ยงพ้น....

นัยแห่งประพันธกรรมข้างต้น คือรากเหง้าเเห่งความเป็นจริงของความรู้สึกจริง ที่ก่อผัสสะขึ้น จากสาระเรื่องราวของรวมเรื่องสั้นปะทะชีวิตแห่งความแหลกสลาย..สาระเรื่องราวแห่งสัญญะของความหม่นมืด ณ ลานประหาร อันโสมมของโลกย์ที่สุดแสนจะอำพราง.. ปริศนาอันแฝงฝังไว้ด้วยความหดหู่ดั่งนี้..ปรากฏให้รู้สึกสัมผัสได้อย่างติดตรึงไม่รู้คลาย..

นั่นคือ..ศักยภาพแห่งการประพันธ์ที่ชวนยกย่องของ “แพรพลอย วนัช”..นักเขียนหญิง ผู้แสดงให้เห็นถึงสายตาของการมองโลกอย่างลึกซึ้งและเข้าใจ..มโนคติในการสร้างสรรค์แบบจำลองของชีวิตในแต่ละชีวิตคือ มายาคติ..ที่ถูกชำแหละออกมาเป็นคุณค่าแห่ง “ภาพสะท้อนของภาพสะท้อน” เหมือนจะเรียบง่ายแต่ก็เต็มไปด้วยใจความที่ต้องตีความ มันเต็มไปด้วยองคาพยพแห่งการประกอบสร้าง ทั้งความรู้และความคิด ที่ต้องแปลความและตีความ..เพื่อความเข้าใจ..สภาวะแห่งโลกและชีวิตในแต่ละชีวิตร่วมกันอย่างถ่องแท้ และ แม่นตรง..

“คอลลาจ บรรเลง” ถือเป็นความบริสุทธิ์แห่งภาพเหตุการณ์ ที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องได้ฉายแสงออกมาอย่างทายท้า..มีเพียงใจต่อใจเท่านั้นที่สามารถจะรับรู้..ความเปรียบแห่งความเร้นลึกเหล่านี้ได้.. “เราเป็นนกที่กลืนยาพิษเข้าไป /เป็นอย่างนี้เอง ผ่านมาและผ่านไป/แต่ใครเป็นคนจับกรอกปากเราล่ะ/ผมนึกถึงชีวิต/..แต่หนูลืมไปว่า ทุกคนเกิดมาเพื่อถูกลืม../”

ในเรื่องสั้น “โบนไชน่า” ..เรื่องสั้นที่เน้นย้ำถึงคุณค่าแห่งความมุ่งมั่นของชีวิตในฐานะนักเขียน..ที่จะสืบต่อและประคับประคองอาชีพที่ชุบชูและเป็นเกียรติยศ..ให้ดำรงอยู่..แม้จะด้วยลำพังตนเอง แต่ก็ไม่ยินยอมให้มันหักโค่นลง..การปกป้องสิ่งที่รักด้วยหัวใจแห่งรู้สึกสัมผัสอันลึกซึ้ง  เป็นแก่นแกนอันแข็งแกร่งของชีวิต..เป็นพลังของจิตวิญญาณที่ไม่ยอมสูญสิ้นและเสื่อมสลายดั่งควาแข็งแกร่งเป็นหนึ่งของ “โบน ไชน่า” เซรามิก พอร์ซเลน ที่ทำจากเถ้ากระดูกที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุด..มันเคลือบอยู่กับชีวิต เป็นเหมือนเกราะกำบัง ความอ่อนแอและสิ้นหวังของตัวตน..นั่นหมายถึงว่าจะอย่างไรก็ตาม ชะตากรรมแห่งสถานการณ์ก็มิอาจทุบทำลายปณิธานแห่งความมุ่งหวังตั้งใจของชีวิตได้...

“คนเกิดปีฉลู อย่างเรา ผมทำงานหนัก แต่คุณหนักกว่าหลายเท่า ไม่ได้รำคาญคุณ แต่หงุดหงิดตัวเองที่คิดอะไรไม่ออก วันไหนเขียนไม่ได้..วันนั้นผมไม่ใช่นักเขียน..” สัญลักษณ์ในงานเขียนของเธอผ่านดอกไม้งาม..ที่มีความหมายงดงามแต่กลับเคลือบสถานะไว้ด้วยความเจ็บปวด..

“แดนดิไลออน” ...ดอกไม้ที่แทนความประทับใจของงามและความหวัง..เป็นดั่งละอองไอของความรัก..เพียงแต่ว่าสมันเป็นดอกไม้ริมทาง ทีสะพรั่งบาน แล้วก็ปลิดปลิวพลัดหลงสู่สายลม..เฉกเช่นสัมพันธภาพภาพอันเคลือบแฝงและไม่จริงใจ รวมทั้งวารวัยอันสุกปลั่งของกายร่างแห่งสตรี...ที่เป็นดั่งเชื้อไฟและชนวนของการถูกล่วงละเมิดและทรยศ..มันคือบาดแผลของมายาซ้อนมายาที่กดทับชีวิตมนุษย์ไว้ในฐานะของเหยื่อแห่งชะตากรรม..

“คุณเอ็นดูลูก ฉันรู้ ฉันก็เคยเป็น หากเมื่อก่อนมีโซเชียลมีเดียอย่างทุกวันนี้ ฉันก็อาจจะโพสต์ แต่จำไว้เถิด เด็กผู้หญิงตัวเท่านี้ ไม่รู้หรอกว่าอะไรควรหรือไม่ควร แต่คุณรู้ ไม่ว่าร่างกายส่วนไหน ท่อนบนหรือร่าง เรียวขา หน้าอก ก้น บนอ่างอาบน้ำราคาแพงลิบ กับการโพสท่าที่คุณเอ็นดูประสาคนเป็นแม่..เชื่อฉัน..คนปกติมองว่านั่นคือเด็กห้า-หกขวบ ฟันน้ำนมยังหลุดไม่หมด แต่คนไม่ปกติเห็นเป็นอื่น..”

ชนวนของการบดขยี้ชีวิตเกิดขึ้นเงียบ...ดั่งกลีบดอกไม้บางเบาที่ปลิดปลิวด้วยสายลมกระโชกแรง...นี่คือลมหายใจของชีวิตที่ถูกเด็ดขว้างทั้งเป็น..เช่นเดียวกับ..ฆาตกรรมซ้ำซากที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศ จากต่างจังหวัด กระทั่งเข้ามาเกิด ณ ใจกลางเมืองหลวง โดยแทบจะหาสาเหตุอันแท้จริงของความสยดสยองที่แสนจะบ้าคลั่งนี้ได้..เป็นความ “ซ้อนซ้ำ-ซ้ำซ้อน” แก่งโศกนาฏกรรมที่เป็นยิ่งกว่าความเปล่าดาย..ชีวิตบริสุทธิ์ถูกทำลายลงด้วยชะตากรรม หรือเราต้องปล่อยให้ชีวิตของชีวิตต้องหลงเงา ไร้ทางออกอันแม่นตรงจริงแท้... เรื่องสั้น” แดฟโฟดิล” นับเป็นเรื่องสั้นที่ร่วมยุคร่วมสมัย...สั่นสะเทือนสำนึกรู้แห่งสัมปชัญญะ อย่างยิ่ง..มันคือภาพฉายที่เบิกประจานและก่นประณามสังคมอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ..

“แดฟโฟดิล” ดอกไม้แห่งความหมายของการระลึกถึง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “นาร์ซิสซัส” ..ชายผู้หลงเงาตัวเอง..แต่ ณ เหตุแห่งผลของความเป็นเรื่องสั้นเรื่องนี้..ความงามของชีวิตอยู่ที่ไหน?..ความหลงเงาแห่งชีวิตสมควรจะอยู่ในหัวใจของใคร?..หรือมีเพียงพระเจ้าเท่านั้น..ที่รู้!

เรื่องราวบางเรื่องราวคล้ายดั่งความธรรมดาสามัญของชีวิตจริง แต่มันห่มคลุมด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ เจ็บปวดดั่งพ่ายแพ้เสมอ เมื่อตกอยู่กับภาวะที่ผิดหวังและสิ้นค่า..ต้องถือว่า “เพื่อนร่วมทาง” คือเรื่องสั้นในประเด็นเล็กๆที่ให้ผลต่อการกระทบใจที่สั่นไหวยิ่ง..ความสำเร็จที่มาเร็วเกินไปของชีวิต สำหรับบางคนมันคือไฟที่ไหม้ลามความหมายแห่งตัวตนจนย่อยยับ..วิถีแห่งการกระเสือกกระสนที่จะหวนคืนสู่ความสุขสำเร็จอีกครั้งและอีกครั้งคือ ความร้าวรานที่มิอาจจบสิ้นและยากจะลืมเลือน..ความมอดไหม้แห่งความหมายมุ่งเช่นนี้คือภาวะขณะแห่งการตายทั้งเป็นเช่นเดียวกับ..บริบทของความทุกข์ที่บางคนกลับไม่พึงใจกับความสำเร็จที่ได้มา..สถานะที่พลิกกลับเช่นนี้คือฝุ่นผงที่ค้างคาความทะยานอยากของชีวิต..

"คนพร้อมจะลืมเราทุกเมื่อ.. เขาดองหนูไว้ไม่ให้ทำอะไรเลย.. หนูเคยคิดว่าตัวเองสำคัญ แต่หนูลืมไปว่าคนเราเกิดมาเพื่อถูกลืม” ความจริงของเรื่องนี้ซ่อนอุทาหรณ์เชิงเปรียบเทียบเอาไว้..ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะเป็นทางผ่านที่ง่ายดายของชีวิตไปได้หรอก..นอกจาก... “เมื่อก่อนหนูคิดว่าเริ่มเร็วได้เปรียบ..แต่ที่จริงกลับตรงข้าม..หนูต้องผอม ต้องออกกำลังกาย ต้องออกกำลังกายเยอะๆ ต้องดูดีเสมอ..เขียนเพลงเสร็จ..หนูชอบคิดว่าหนูไม่ดีพอ ไม่มีความสามารถ ความคิดลบๆวนเข้ามาในหัวตลอด..”

การทำงานในยุคสมัย..ที่ “ผู้น้อย” มักถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง..ในยุคสมัยที่งานหายากจนต้องอดทนทำด้วยการแบกรับภาระที่เกินค่าจ้างตลอดจนหน้าที่ที่แท้จริงที่ต้องรับผิดชอบ..ฉากแห่งชีวิตตรงส่วนนี้ทำให้ผู้ถูกกระทำเปรียบเป็นดั่ง “นกไขลาน” ที่ไม่อาจหยุดยั้งกายร่างแห่งการกระทำของตนได้..แม้นายจ้างจะเป็นผู้มาจากดินแดนเสรีที่ถูกยกย่องว่า “ศิวิไลซ์” แต่กมลสันดานแห่งการเอารัดเปรียบก็ยังเป็นการฉวยอำนาจที่น่ารังเกียจและชวนขยะเเขยงอยู่ดี..

นอกไปเสียจากว่า..ชีวิตจะเลือกสยบยอมอย่างไร้ศักดิ์ศรี หรือ ไม่ก็ยอมทำงานตามน้ำอย่างไร้ศักดิ์ศรีไปวันๆ..คนส่วนใหญ่มักเลือกกระทำเช่นนี่..และอยู่รอดได้..แม้จะด้วยมายาคติก็ตาม.. “ทุกครั้งที่เห็นกุ๊กโพสต์ เราอยากส่งข้อความว่าหยุดเถอะ กุ๊กกลืนยาพิษเข้าไป แล้วออกมาให้คนอื่น” นี่คือเรื่องสั้นอันกระแทกกระทั้นต่อสัจจะวิสัย..มันเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของความจริงดั่งกับดักของโชคชะตาอันอเน็จอนาถ...เราเหลือเพียงทางเลือกอันตีบตันน้อยนิด ซึ่งไม่ถือเป็นคุณค่าอันน่าภาคภูมิใจของมนุษย์..

การเขียนในลักษณะของการแบ่งบทตอนเป็นแต่ละบทตอน...เป็นดั่งฉากของการแสดงที่เชื่อมต่อกันด้วยวิปลาสแห่งอารมณ์..และการโหยหาทางรอดของชีวิตที่ไร้ชีวิต.. เช่นเดียวกับเรื่องสั้น.. “โสเภณีชั้นสูง” เรื่องสั้นที่ชื่อเรื่องสื่อความอย่างตรงๆไม่อ้อมค้อม..ถึงการย่างก้าวแห่งโชคชะตา..จากจุดต่ำสุดไปจนถึงจุดสูงสุด...กระทั่งกลายเป็นความพลิกผันสมบูรณ์... “นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ความไม่โปร่งใสส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคนในองค์กร ต่อให้ความจริงเปิดเผย หมากก็ถูกจัเวางมาแล้วตั้งแต่ต้น”...การเชื่อมต่อกันด้วยโครงเรื่องแบบแน่นเรื่องนี้...คือนัยยะแห่งความเป็น “คอลลาจ” เชิงการประพันธ์ที่อวดฝีมือของผู้เขียนผ่านลำดับชีวิตที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนที่ซ้อนทับอยู่ในจิตวิญญาณของความอัปยศ..

เรื่องสั้น “หิมะเเรก” ..งาน “หน่วงเรื่อง” (Suspension) ที่ทั้งเฉียบคมและเด็ดขาดในการดำเนินเรื่อง..ผ่านตัวละครอันเป็นดั่ง “ตุ๊กตาล้มลุก” ของยุคสมัย...เป็นดั่งร่างทรงของการจอมปลอม..

เราย่อมคาดเดาสถานะทางกายและใจของมนุษย์ไม่ถูก..จากสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่..ความจริงอาจจะปลอม/ความปลอมอาจจะจริง..นี่คือเรื่องสั้นที่ทั้งพาดผ่านและบีบเค้น “น้ำหน้าแห่งยุคสมัย” ให้ปรากฏตัวออกมา..มันคือจินตนาการในเงามืด...ที่สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการไล่ล่า..เพื่อการส่งท้ายชีวิตที่ขาดวิ่นและไม่หลงเหลือ... “เขาต่อให้ไม่กี่นาที ทั้งบังคับให้เธอถูกไล่ล่าในสภาพโคตรทุเรศ..เปรี้ยง../นัดนี้คือสัญญาณว่าเธอถูกจับตาทุกฝีก้าว ไหวพริบชีเปลือยอย่างเธอ จะได้ครึ่งหนึ่งของแซงเจอร์ เรนส์ฟอร์ด หรือเปล่า หมอนั่นไม่เพียงรอด แต่ยังเป็นผู้ชนะ../ต้องรอด!”

แล้ว “คอลลาจ ก็บรรเลง” ขึ้นด้วยโลกแห่งโชคชะตาแห่งสรรพชีวิต..ภาพเชื่อมต่อกันด้วยภาวะเหตุการณ์นานา..เป็นบทบรรเลงที่มีทั้งความดีงามและชั่วร้าย..มีทั้งความปลิ้นปล้อน  และบุคลิกภาพของความโฉดชั่ว..ในสนามรบของสื่อมวลชนยุคนี้เราต้องดำรงตนอย่างท่ามกลางกระแสข่าวอันไม่เที่ยง..และสถานการณ์ของผู้ทำข่าวอันไร้มั่นใจในที่ยึดเกาะ..พวกเขาต่างถูกหายใจรดต้นคอทั้งด้วยความไม่วางใจและด้วยความไม่มั่นคง.. อย่ารังเกียจเงิน คนอยากได้เงินไม่ใช่คนน่ารังเกียจ ขอแค่อย่าแย่งใครมา และ อย่าโลภ

นี่เป็นเรื่องเดียวที่ผมอยู่ตรงกลางระหว่างอายและภูมิใจ อายเพราะไม่ใช่งานที่เชิดหน้าชูตา ภูมิใจเพราะว่าเป็นงานสุจริต/..ทั้งที่ผิดกฎหมาย.. “แพรพลอย วนัช” สร้างสรรค์รวมเรื่องสั้นชุดนี้ได้อย่างเนียนแนบทางความคิด ปฏิกิริยาต่อการรับรู้รอยบาดเจ็บแห่งบาดแผลทางสังคม ประสบการณ์แห่งอาชีพ รอยจารึกของความทุรนทุรายจากอาการใฝ่ดี ที่ถูกหยามเหยียด..อีกครั้งสู่อีกครั้งและอีกครั้ง..คือแรงขับเบื้องหลังพลังแห่งอักษรความคิดที่โยงใยถึงกันด้วยบทบรรเลงของความเจ็บปวด ภายใต้มนต์มายาแห่งบทบรรเลงของผีร้าย..ที่ร่ายความทุกข์อันติดตายต่อการหนีพ้นของมนุษย์..ด้วยภาษาใจที่งดงาม..ด้วยการวางจังหวะและตำแหน่งของอารมณ์ความรู้สึกอย่างง่ายงาม ทำให้เรื่องสั้นในเล่มนี้ไร้จริตต่อผัสสะรับรู้..แต่กลับเปี่ยมล้นไปด้วยความจริงแห่งความจริงที่สอดสลับอยู่ในเนื้อในของตัวเรื่อง..และโครงสร้างของชีวิตที่รายรอบและห่อหุ้มอยู่..ด้วยบริบทแห่งความเคยคุ้นในสัมผัสแห่ง หนัง หนังสือ เพลง สถานการณ์ และกระบวนการอันเป็นองค์ความรู้ต่างๆทำให้การประกอบสร้างเรื่องสั้นในนามวรรณกรรมชุดนี้ สง่างาม จริงใจ และ เป็นที่จดจำได้..ไม่เพียงแค่เฉพาะบทตอนในแต่ละส่วนเสี้ยว แต่มันคือมวลรวมทั้งหมดทั้งมวลของชีวิตที่เกาะเกี่ยวกันเป็นแสนเป็นล้านภาพแสดง..พร้อมการบรรเลงเพลงประกอบด้วยบทบรรเลงแห่งการหยั่งรู้ในหยั่งรู้..ที่อยู่เหนือโชคชะตาใดๆ..

“ผู้คนซ่อนเงาตัวเองอยู่ใต้หน้ากาก” เขาล่ะ...เราล่ะ “..มุดหัวอยู่ที่ไหน...ทำอะไรอยู่..?”