ปัจจุบันคนไทยผลิตขยะวันละ 73,560 ตัน หรือคิดเป็น 26.85 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 8.34 ล้านตัน ส่วนที่เหลือนำไปกำจัดไม่ถูกต้อง 7.15 ล้านตัน และมีตกค้างในพื้นที่และกำจัดไม่ถูกต้องอีก 6.22 ล้านตัน มีขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จำนวน 4.94 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.40 ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยตกค้าง รัฐบาลจึงกำหนดให้ “การจัดขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ” และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนที่นำทาง (Road Map) การจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ 1. เร่งจัดการขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะพื้นที่วิกฤติ 2. ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับขยะที่เข้ามาใหม่ โดยเน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและแปรรูปพลังงานจากขยะ 3. จัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และ 4. การสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในข้อที่ 4 นี้ และจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 กันยายน 2559 ได้มีแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ในระยะ 1 ปี (พ.ศ.2559-2560) ซึ่งเป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ซึ่งวางอยู่บนแนวคิด 3Rs – ประชารัฐ คือ การส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง ซึ่งเป็นการจัดการขยะที่ยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วยร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยในทุกภาคส่วน นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน จึงรับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน Road Map ในกิจกรรมการสร้างวินัยคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการจัดการขยะจากแหล่งกำเนิด ตามแนวคิด Zero Waste หรือ การจัดการขยะเหลือศูนย์ โดยใช้หลัก 3Rs คือ Reduce การลดปริมาณขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการขยะที่เหลืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้มีการดำเนินโครงการ ได้แก่ 1.โครงการเมืองสะอาดคนในชาติมีสุข โดยการขับเคลื่อนพื้นที่ 1 จังหวัด 1 อปท.ต้นแบบ ด้านการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยใช้หลักการ 3Rs ลด ใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ โดยขอให้จังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์การจัดการขยะตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย คัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ที่มีรูปแบบการจัดการขยะอย่างมีมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทาง ชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้เป็นอปท.ต้นแบบ 2.โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ Zero waste เฉลิมพระเกียรติ 89 พรรษา 89 ชุมชน ปี 2559โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช :ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานด้านการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยเริ่มจากการจัดการขยะจากต้นทางแหล่งกำเนิดขยะ การลดปริมาณขยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การจัดการกลางทางโดยผ่านระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการจัดการปลายทางคือ การกำจัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยในปี 2559 นี้ มีชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 417 แห่ง โดยจะคัดเลือก 89 ชุมชนที่ทำประโยชน์ต่อสังคมในการจัดการขยะ การลด การแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร จะได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานให้กับชุมชนอื่นๆ และในปี 2559 นี้ ชุมชนที่ชนะเลิศระดับประเทศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แบ่งเป็น 3 ประเภทตามขนาดของชุมชน โดยชุมชนขนาดเล็ก ได้แก่ ชุมชนโรงพยาบาลค่ายวิภาวดีรังสิต เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนขนาดกลาง ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองสะแกกวน หมู่ที่ 6 เทศบาลตำบลโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และชุมชนขนาดใหญ่ ได้แก่ ชุมชนบุลำดวนใต้ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 3.โครงการประกวดโรงเรียนปลอดขยะ Zero waste School เฉลิมพระเกียรติ 61 พรรษา 61 โรงเรียน ปี 2559 โดยโรงเรียนชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งโครงการฯ นี้ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ สนับสนุนการสร้างเครือข่ายสถานศึกษา เพื่อให้มีการรวบรวมขยะส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง ปลูกฝังจิตสำนึกการลด คัดแยกขยะและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านระบบการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดวินัยในการจัดการขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทางในชุมชนและสถานศึกษา อันจะนำมาซึ่งการสร้างสังคมรีไซเคิล หรือ สังคมปลอดขยะในที่สุด และในปี 2559 นี้ มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,032 แห่ง โดยในปี 2559 นี้ โรงเรียนชนะเลิศระดับประเทศที่จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แบ่งเป็น 2 ประเภท โดยประเภทโรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษา โรงเรียนระดับประถมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาส ได้แก่ โรงเรียนวัดตโปทาราม จังหวัดชลบุรี และประเภทโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ทั้งนี้ ชุมชนและโรงเรียนที่ชนะเลิศระดับประเทศ ปี 2559 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนและโรงเรียนปลอดขยะต้นแบบและเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่เป็นตัวแทนของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการคัดแยกและนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่ให้ขยายออกไปทั่วประเทศ ให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป จากผลการดำเนินงานการส่งเสริมให้มีการจัดการขยะที่ต้นทางของชุมชนและโรงเรียนปลอดขยะ zero waste ปี 2559 มีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ดังนี้ จำนวน 89 ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ คิดเป็น 14,553.33 กิโลกรัม/วัน (หรือ 14.55 ตัน/วัน) คิดเป็นร้อยละ 53.50 และจำนวน 61 โรงเรียน ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ คิดเป็น 1,154.11 กิโลกรัม/วัน (หรือ 1.15 ตัน/วัน) คิดเป็นร้อยละ 59.82 รวมจำนวนขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ของชุมชนและโรงเรียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,730 ตันต่อปี และจากจำนวนขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ดังกล่าว เมื่อนำมาคิดเป็นค่าขนส่งและค่ากำจัดขยะโดยเฉลี่ยตันละ 1,000 บาท จะประหยัดงบประมาณให้กับภาครัฐได้ถึง 5,730,000 บาท ในขณะที่มูลค่าของจำนวนขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ดังกล่าว มีราคาเฉลี่ยรายได้กิโลกรัมละ 6 บาท ดังนั้น จึงสร้างรายได้ให้กับชุมชนและโรงเรียนได้ประมาณ 34,380,000 บาท สำหรับโครงการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนที่ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ ขนาดใหญ่เข้าร่วมรณรงค์จำนวน 16 หน่วยงาน งดการให้บริการถุงพลาสติก โดยเริ่มดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ต่อมาได้ขอความร่วมมือในการยกระดับการรณรงค์โดยการเพิ่มความถี่ในการงดให้บริการถุงพลาสติกมาเป็นลำดับ คือ ในวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน และ ทุกวันพุธ โดยมีเป้าหมายในการลดถุงพลาสติกลงให้ได้ 89 ล้านใบ ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” ซึ่งตลอดระยะเวลาการรณรงค์จนถึงเดือนกันยายน 2559 สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 66 ล้านใบ ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจทั้ง 16 หน่วยงาน มีความเห็นร่วมกันว่า ให้เพิ่มความเข้มข้นในการสร้างวินัยคนในชาติ ลดใช้ถุงพลาสติกเป็นทุกวัน โดยรณรงค์เข้มข้น 45 วัน ทำดีเพื่อพ่อ ของดถุงพลาสติก โดยมีเป้าหมายลดถุงพลาสติกลงให้ได้ 89 ล้านใบ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2559 และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ภาคธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชน ช่วยรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งดใช้ถุงพลาสติกในทุกวัน