วันที่ 29 กันยายน  2566 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” โดยปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ  “Next Chapter ประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า เป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้วว่าปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ปัญหาสังคม  ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการต่างประเทศก็เป็นเรื่องใหญ่ 

เรื่องแรกปัญหาของสังคม ความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่อาจเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ถูกละเลย ไม่มีการแก้ เป็นปัญหาที่ยาก เป็นปัญหาที่ใหญ่มีหลายมิติซึ่งอาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด 

“ผมจะไม่เคลมว่ารัฐบาลนี้มีจะมีทางออกทั้งหมด ที่ทำให้ทุกท่านฟังแล้วสบายใจ แต่เราเริ่มกันด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้เราวางโรดแมปไว้แล้วบ้าง ถึงแม้ยังไม่สมบูรณ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ก็ต้องทำต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องของการแก้กฎกติกาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” นายเศรษฐา กล่าว 

นายเศรษฐา กล่าวว่า เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของใคร คนใดคนหนึ่ง เป็นปัญหาของทุกคน เป็นปัญหาของผู้แทนราษฎร เป็นปัญหาของผู้บริหารประเทศ ทุกคนมีส่วนทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นมา เรื่องที่เราอยู่กับสภาวะปัจจุบันนี้ความเหลื่อมล้ำสูงมาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงสุดประเทศหนึ่ง คนจนก็จนมาก คนรวยก็รวยมาก 

ถ้าต้องการให้รัฐบาลออกเป็นมาตรการ เป็นคำสั่งที่จะมาแก้ไขปัญหา ตนคิดว่าปัญหาจะไม่ถูกแก้ไขปัญหาถูกแก้ไขโดยจิตใต้สำนึกของทุกคน ตนยืนอยู่ตรงนี้ก็เพื่อมาขอร้อง มาวิงวอนให้ทุกท่านเข้าใจ ตนคิดว่าเรานั่งอยู่ตรงนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่าความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมในทุกๆ มิติ 

ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในการเลือกเพศภาพ หรือในการเลือกประกอบอาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเกิดท่านคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญก็ต้องช่วยกันซับพอร์ต ช่วยกันออกความเห็นในทิศทางเชิงบวก ถ้าเกิดเห็นด้วย แต่มีข้อแม้บ้างก็ขอให้เสนอออกมาในทิศทางที่เป็นประโยชน์

ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา หรืออาจจะยาวกว่านั้น ตนพูดในฐานะคนไทย เมื่อเรามีความเห็นต่าง เมื่อเรามีความไม่พอใจการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะพูดจากันด้วยภาษาที่ทุกคนรับฟังกันได้อย่างสบายหู มีสีหน้าที่ดูแล้วมีมิตรภาพบนความเห็นต่าง ตว่าจะเป็นการกระทำที่ดีกว่า 

แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียเยอะ มีคนพูดกันเยอะ มีคนแสดงความคิดเห็นเยอะ มีการใช้คำพูดที่บาดหัวใจ ฟังแล้วก็สะอื้นได้พอสมควรเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เห็นต่างเล็ก ๆ น้อย ๆก็ตามที เป็นเรื่องชิงเหลี่ยมชิงพริบ ชิงไหวชิงพริบ ที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบ แต่ว่าผลกระทบในเชิงลึกมีมาก การที่สังคมมีการแตกแยก มีการแบ่งพวกที่ชัดเจน 

เรามีวิธีการสื่อสารได้หลายวิธี แต่ละคนมีวิธีสื่อสารแตกต่างกันไป คำพูดคำจาแต่ละคำมันมีความหมายลึกซึ้ง ปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิดมา 2-3 ปี ปัญหาเกิดมานานแล้ว แต่ละท่านอาจจะบอกว่าการใช้ภาษาที่รุนแรงชัดเจน อาจจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา 

ตนอาจจะขอให้มองอีกมุมหนึ่ง ว่า ถ้าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และหันเข้าหากัน ใช้ภาษาที่ อาจจะใช้คำพูดที่ยาวนิดหนึ่ง ตนเป็นคนชัดเจนมาโดยตลอด คนที่รู้จักตน ตนเป็นคนพูดน้อย และให้ได้ใจความมายืนอยู่ตรงนี้ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น แต่เราเองต้องมีการปรับปรังตัวเอง เพื่อให้ลดความขัดแย้งลงไป 

“การพูดจา ยกตัวอย่าง ผมไม่ต้องการไปว่าใคร หรือ ไปตอบโต้ใครทั้งสิ้น เรื่องที่เราใช้คำว่า ปฏิรูป สังคยานา ล้างบาง ผมว่าทุก ๆ คนก็มีความภูมิใจในองค์กรของตัวเอง ทุกคนหวังดีกับองค์กรของตัวเอง ผมเข้าใจว่า ทุกองค์กรมีคนดี คนไม่ดี แต่การที่เราใช้คำพูดที่รุนแรง วิธีการที่ก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน มันเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาหรือเปล่า หรือการแก้ปัญหาอยู่ที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ที่การพูด ผมคิดว่าอยู่ที่การกระทำ อยู่ที่วิธีการ ในการที่เอาสถาบันต่าง ๆ มาพูดในที่สว่าง คำพูดที่รุนแรง ผมเชื่อว่า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา การแก้ปัญหาคือการพูดคุยกันในภาษาที่ทุกคนยอมรับได้ แต่ไปเน้นหนักเรื่องการกระทำ” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เรื่องกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ คนที่มีเยอะ ของการใช้โซเชียลมีเดีย ในการอวด ในการเสอนตนว่าเหนือท่าน หลาย ๆ เรื่อง พวกนี้ ถ้าเกิดลดลงไปได้บ้าง คนที่อยู่ชายขอบของสังคม เขาก็จะมีความสบายใจขึ้น 

“ทุกท่านในที่นี้ รวมถึงตัวผมก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบไปด้วยกัน ไม่สายเกินไป เรามาช่วยเยียวยาสังคมให้ดีขึ้นจากการกระทำของพวกเราเองทุกคน มีความไม่สบายใจริง ในเรื่องนี้ ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะนำประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่มีประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น”  

นายเศรษฐา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ทุกคนเข้าใจดี ดูได้จากประเทศเพื่อนบ้านอัตราการเจริญเติบโตหรือจีดีพีของประเทศเพื่อบ้านโตกว่าเราสองเท่า ประเทศเราเองก็ประสบปัญหาเหมือนกัน เรากำลังอยู่ในช่วงที่เราฟื้นตัวจากโควิด-19 รัฐบาลเองก็ใช้เวลานานกว่าจะเข้ามาถึงจุดตรงนี้ได้ เราก็พยายามที่จะเข็นนโยบาย

เหตุผลหนึ่งที่เราแพ้เวียดนามไม่ใช่เรื่องการขึ้นค่าแรง มันเป็นเรื่อง FTA ที่เรามีน้อยกว่า เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ออกไปประกาศว่าเราจะมีการเปิดประเทศครั้งใหญ่ ไม่ได้นำเอกชน ไม่ได้นำองค์กรรัฐที่สนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนในการโฆษณา หลายๆ บริษัทให้ความสนใจ 

ไมโครซอฟต์ กูเกิล เทสลา บริษัทเทคใหญ่ๆ จะลงทุนครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านเหรียญ ธุรกรรมต่อเนื่องก็จะมีมาอีก เราคาดหวังอย่างสูงว่าจะเกิดขึ้น มีการคุยต่อเนื่องไม่ใช่จับมือเจ๊าะแจ๊ะก็จบ การประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโก กลางเดือนพฤศจิกายน มีการนัดหมายแล้วว่าจะไปคุยต่อ และเป็นความหวังลึกๆของรัฐบาลว่าจะตกลงกันได้ในขั้นพื้นฐานกับหลายๆ บริษัท 

“จะเป็นนิมิตหมายอันดีให้กับทั่วโลกว่าประเทศไทยได้เปิดแล้ว และพร้อมสำหรับการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเราไม่สามารถพึ่งการเจริญเติบโตของจีดีพีได้จากภาคการเกษตรอย่างเดียว ต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่ ครั้งใหญ่ที่สุด” นายเศรษฐา กล่าว