เลขาฯ มกอช. เผยญี่ปุ่นแง้มข่าวดีเตรียมอนุญาตนำเข้าส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ คาดไฟเขียวในปี 2567 พร้อมทั้งถกหน่วยงานญี่ปุ่นสานต่อความร่วมมือเชิงวิชาการ ยกระดับมาตรฐานและดันจุดแข็งสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าจากการแสดงฉลากสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนสินค้าเกษตร
วันที่ 10 ส.ค.66 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (MHLW) ของญี่ปุ่น สำนักงานกิจการผู้บริโภค กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (MOFA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เพื่อผลักดันการเปิดตลาดส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ครั้งที่ 13 ในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นได้เผยข่าวดีเตรียมอนุญาตนำเข้าส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ เนื่องจากญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อระบบการกำกับดูแลการผลิตและบริหารจัดการการส่งออกส้มโอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจะพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดสายพันธุ์ในการนำเข้าส้มโอของไทย และจะเร่งรัดจัดทำเงื่อนไขการส่งออกส้มโอทุกสายพันธุ์ของไทยไปยังญี่ปุ่นด้วยวิธีการอบไอน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
หลังจากนี้ มกอช. และกรมวิชาการเกษตรมีแผนจะผลักดันและดำเนินงานร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดให้สำเร็จตามเป้าหมายต่อไป คาดว่าภายในปี 2567ไทยจะสามารถส่งออกส้มโอไปญี่ปุ่นได้ทุกสายพันธุ์ ผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือนี้จะช่วยส่งขยายการส่งออกส้มโอสู่ญี่ปุ่นมากขึ้น และสร้างโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรชาวสวนส้มโอของไทย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ มกอช ยังได้ร่วมหารือกับองค์กรวิจัยด้านการเกษตรและอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Agricultural and Food Research Organization: NARO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยหลักด้านการเกษตรของญี่ปุ่น ที่มีขอบเขตหน้าที่กว้างขวางครอบคลุมการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรและอาหารทั้งหมด รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการผลิต ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรจากความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการหารือเพื่อเตรียมความร่วมมือทางวิชาการ มุ่งเป้าในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารของทั้งสองประเทศ ต่อยอดความร่วมมือการด้านอาหารฟังก์ชัน (Functional Foods)
โดยในปี 2567 จะเริ่มขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือแรก ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบมาตรฐานการแสดงฉลากสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนสินค้าเกษตร (Functional Claims) สำหรับสินค้าเกษตรสดและสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นของไทย ที่ มกอช.ตั้งเป้าหมายจะศึกษาต้นแบบจากญี่ปุ่นเพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของประเทศ ขยายโอกาสการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรเฉพาะถิ่น (Local ingredients) ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและมีประชากรกลุ่มผู้ดูแลรักษาสุขภาพและกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนมาก รวมถึงประเทศมาตรฐานสูงอื่นที่ปัจจุบันมีแนวโน้มความต้องการอาหารกลุ่มนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ