‘พระพุทธรัตนสถานควรเป็นรูปเหมือนจริง คนที่อยู่ในภาพต้องเหมือนจริงและสามารถค้นคว้าได้’ ในงานศิลปะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงพระอัจฉริยภาพ จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระราชดำริให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการเขียนภาพถ่ายทอดประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และการอนุรักษ์วิชาช่างโบราณ ในหนังสือ “จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9” ได้เล่ารายละเอียดไว้ ส่วนที่นี้ขอคัดย่อมาสังเขป เมื่อครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาพระวิหารพระพุทธรัตนสถาน โปรดเกล้าฯให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณัมัย และการเสด็จมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยถูกโจมตีทางอากาศ ระเบิดตกลงในพระบรมมหาราชวัง แม้ว่าระเบิดด้าน แต่ความแรงนั้นส่งผลทำให้ชายคาและผนังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานด้านเหนือพังลง ได้บูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2496 ต่อมาปี 2504 สำนักพระราชวังให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นใหม่แทนส่วนที่ชำรุดเสียหาย ว่าด้วยเรื่องพระราชประวัติพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ช่วงระหว่างพุทธศักราช 2488 – 2499 ลักษณะเป็นศิลปกรรมร่วมสมัย ปี 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนภาพจิตรกรรมระหว่างช่องพระบัญชรให้สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมตอนบน ทั้งในด้านเนื้อหา กรรมวิธีการสร้าง การใช้สี และลักษณะศิลปะ ในสาระของภาพจิตรกรรมระหว่างช่องพระบัญชร 8 ช่อง โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ส่วนกรรมวิธีการสร้างให้เป็นไปแบบโบราณเขียนด้วยสีฝุ่น และพระราชดำริด้านศิลปะ ระเบียบประเพณี ลักษณะสถาปัตยกรรมว่า พระพุทธรัตนสถานควรเป็นรูปเหมือนจริง คนที่อยู่ในภาพต้องเหมือนจริงและสามารถค้นคว้าได้ จากนั้นช่างจิตรกรรมกรมศิลป์ 20 คน นำแนวทางพระราชดำริในการเขียนภาพ และเริ่มดำเนินการเขียนภาพลงสู่ผนังจริงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2546 จนแล้วเสร็จเดือนมีนาคม ปี 2547 จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ใช้โครงสร้างการวางรูปแบบที่ใช้มุมมองแบบไทย หรือตานกมอง (Bird’s eye view) ในแบบประเพณีโบราณผสมผสานกับมุมมองตะวันตก มีการเชื่อมต่อกับภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีช่วงบน เป็นจิตรกรรมแบบสองมิติ ส่วนตอนล่างเป็นแบบสามมิติ แต่เมื่อมองดูทั้งภาพแล้วยังคงเป็นจิตรกรรมแบบสองมิติตามลักษณะจิตรกรรมแบบไทยประเพณีที่ช่างสมัยโบราณใช้เขียน แนวพระราชดำริโปรดให้เขียนภาพตามสภาพความเป็นจริงและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแต่ละสมัย ดำเนินเรื่องเหตุการณ์ในรัชกาลที่ 4 และในรัชกาลลำดับต่อๆ มา จนมาถึง “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงฟื้นฟูราชประเพณีต่างๆ แล้ว ในเรื่องการแต่งกาย บุคคลสำคัญ ฯลฯ โดยให้ช่างศิลป์ไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเหตุการณ์จริง เครื่องใช้ไม้สอยและสิ่งของจริงก่อนลงมือวาด รวมไปถึงการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ ในการใช้เทคนิควิทยาการปัจจุบัน การใช้สี การตัดเส้น ปิดทอง ลงแสงเงาในเนื้อทองตัดเส้นด้วยสีเข้ม ทำให้ภาพเขียนมีความแวววาวเปล่งประกายและสวยงามยิ่ง นำภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานมาให้ชมบางภาพ ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น