สัปดาห์วิจารณ์/W7007(คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก) ความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาท (2) วาทินี ห้วยแสน [email protected] ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ทาง คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก จึงได้ร่วมถวายความอาลัยในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยได้น้อมนำเรื่องราวความทรงจำเมื่อครั้งตามรอยพระยุคลบาทไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 6 ตอน มาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความจงรักภักดี ผ่านพระบารมีของพระองค์ท่าน พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย สังคมสวิสเป็นสังคมน้ำนิ่ง ความเดิมจากตอนที่แล้ว...หลังจากตื่นตาตื่นใจไปกับความสวยงามของทะเลสาบซูริกเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาแบบง่วงๆ คละเคล้าไปกับความหนาวเย็นที่ปกคลุมไปทั่ว แต่ยังมีแสงแดดอ่อนๆ เล็ดลอดให้คลายหนาวตลอดหลายๆ วันที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำให้คนที่เคยเดินทางมาเที่ยวที่นี่ถึงกับเอ่ยปากว่า ช่างเป็นทริปที่โชคดีจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วบางวันอาจจะเจอฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ รุ่งเช้าของวันใหม่กับการเดินทางสู่เมืองโลซานด้วยระยะทางกว่า 224 กิโลเมตร บนถนนบายพาส ซึ่งตัดไปตามทุ่งนา และสันเขา จึงทำให้หลายๆ คนสัมผัสถึงบรรยากาศสังคมสวิสที่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพบ้านเรือนชนบท และดำรงชีวิตด้วยอาชีพเกษตกรรม โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศของเมืองที่เลียบเลาะตามริมทะเลสาบตลอดเส้นทาง ทำให้รับรู้ถึงสังคมสวิสเป็นสังคมน้ำนิ่ง เพราะคนโบราณนิยมสร้างบ้านอยู่ในทะเลสาบที่ยังปรากฏหลักฐานเมื่อยามน้ำในทะลสาบลดระดับลงไปมากๆ จนปัจจุบันผู้คนได้ใช้ทำเลรอบๆ ทะเลสาบ และตามภูเขาเป็นที่อยู่อาศัย บ้านเรือนสวิสชนบท สำหรับ'เมืองโลซาน' มีสภาพภูมิประเทศเช่นเดียวกับเมืองซูริก ลูเซิร์น และเจนีวา โดยชุมชนส่วนใหญ่จะสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ตามริมทะเลสาบ โดยเฉพาะโลซาน กับเจนีวานั้นเหมือนบ้านพี่เมืองน้อง เพราะอยู่ริมทะเลสาบเดียวกันแต่คนละด้าน ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกทะเลสาบแห่งนี้แตกต่างกันไป เช่น เจนีวา จีนีฟ และเลค เลมัง เป็นต้น ซึ่ง 'เลค เลมัง' นี้มักจะเป็นชื่อที่ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในโลซานเรียกขาน โดยสัณฐานของทะเลสาบดังกล่าวคล้ายบูมเมอแรงที่เอาส่วนโค้งตั้งขึ้น ขวามือด้านบนเป็นที่ตั้งของเมืองโลซาน ด้านใต้ตรงกันข้ามกับโลซาน คือเมืองเอวิยอง หรือเมืองเอเวียงของฝรั่งเศสที่คนไทยมักใช้เรียกกัน ส่วนปลายด้านใต้ และด้านซ้ายของบูมเมอแรงจะเป็นที่ตั้งของเมืองเจนีวา ทั้งนี้หลายๆ คนได้พิสูจน์ความใกล้ของเมืองเอวิยอง ยามที่เดินเล่นริมทะเลสาบของเมืองโลซานจะพบว่าถ้ามองไปฝั่งตรงกันข้ามที่อยู่ด้านทิศใต้ จะเห็นเมืองเอวิยองอย่างชัดเจน โดยฉากหลังจะเป็นเทือกเขาแอลป์ที่คนไทยมักคุ้นเป็นอย่างดีกับโลโก้ที่ปรากฏอยู่บนขวดน้ำนั้นเอง ซึ่งปลายยอดที่มองด้วยตาเปล่าจากริมทะเลสาบจะพบว่ามีหิมะปกคลุม แลดูคล้ายกับฝั่งตรงข้ามอยู่ใกล้ๆ แต่ความเป็นจริงห่างกันถึง 30 กิโลเมตรทีเดียว เป็นสถานที่ฟื้นฟูสุขภาพ โดยพื้นเพของชาวเมืองโลซานส่วนใหญ่เป็นคนฝรั่งเศสเก่า ดังนั้นเมืองนี้จึงใช้ภาษาฝรั่งเศส แบบสวิส และยังมีภูมิประเทศติดกับแหล่งเพาะปลูกทำไวน์ที่มีชื่อเสียงของสวิส ส่วนปัจจุบันจะมีชื่อเสียงในฐานะเมืองการศึกษาของประเทศ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังเมืองท่องเที่ยวเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น เวเวย์เมืองริมทะเลสาบที่มีวิวสวยงาม อาคารบ้านเรือนน่ารัก และเป็นแหล่งจัดเทศกาลไวน์ของสวิสที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ในรอบร้อยปีจะจัดเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น มหาวิทยาลัยโลซาน 'โลซาน' ไม่ได้มีชื่อเสียงด้านวิวทะเลสาบสวยงาม หรือเมืองการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงด้านหุบเขาสวย บรรยากาศดี และไม่หนาวเกินไป ดังนั้นภูมิประเทศจึงเหมาะแก่การฟื้นฟูสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง จากความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงนี้เองที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ ตอนหนึ่งว่า "...สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ได้ทรงเลือกเมืองโลซานเป็นสถานที่ประทับรักษาตัวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เนื่องจากไม่ทรงแข็งแรง ตามคำแนะนำของแพทย์ ..." ซึ่งในการนี้สมเด็จย่าได้ทรงพาพระราชธิดา และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯโดยในสมัยนั้นยังดำรงพระยศ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญชันษาได้เพียง 5 พรรษา (พ.ศ.2475) ทรงศึกษาอยู่ชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ที่กรุงเทพฯ ครั้นพอเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 ได้ตามเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ด้วย เพื่อศึกษา และพลานามัย แต่ทว่าถ้าย้อนอดีตไปเมื่อครั้ง พ.ศ. 2469 สมเด็จย่า หรือพระราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงย้ายที่ประทับจากปารีส มายังเมืองโลซานเมื่อครั้งพระราชธิดา และพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งพระราชโอรสพระองค์เล็ก ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ เพิ่งทรงประสูติที่โรงพยาบาลเมานท์ ออเบอร์น รัฐแมสซาชูเว็ตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ต้องตามเสด็จพระราชบิดา เพื่อทรงพักฟื้นจากอาการพระประชวรด้วยโรคพระวักกะในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเสด็จกลับประเทศไทยในเวลาต่อมา จนปีพ.ศ.2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ ได้เพียงหนึ่งปี สมเด็จย่าได้ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชชนนี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พาพระโอรส และพระธิดาไปประทับยังเมืองโลซาน เพื่อการศึกษา และเพื่อพลานามัยของทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ดังพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือแม่เล่าให้ฟัง ว่า " ?.เมื่อเดือนเมษายน 2476 พระราชชนนี พร้อมด้วยพระธิดา พระโอรส แหนน และบุญเรือน (คุณหญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ" เดินทางด้วยรถไฟไปปีนัง เพื่อลงเรืออเมริกันเพรสซิเดท์เพียร์ช และขึ้นฝั่งที่เจนัว ต่อรถไฟไปยังเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีพระสุทธิอรรถ และคุณฉลวยภรรยาเดินทางตามไปด้วย..." แฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ ในพระนิพนธ์หนังสือดังกล่าวได้เล่าว่า ในช่วงต้นนั้นได้ไปประทับอยู่ที่โรงแรมวินเซอร์ประมาณหนึ่งเดือน จากนั้นพระราชชนนีได้นำพระโอรส พระธิดา และแหนนไปย้ายไปอยู่ ชอง โซเลย์ ส่วนบุญเรือนไปอยู่โรงเรียนประจำสำหรับเด็กผู้หญิง ขณะที่พระราชชนีไปประทับอยู่กับครอบครัวเดอรัม ซึ่งเมอร์สิเออร์ เดอ อวงวิล เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทย หลังจากนั้นประมาณสองเดือนพระราชชนนีจึงตัดสินพระทัยย้ายครอบครัวมาอยู่รวมกันที่แฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ เมืองโลซาน และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รวมทั้งพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ได้ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองค์ โดยได้ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนนี้ไม่มีแล้ว ส่วนแฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ ที่ทรงประทับอยู่ช่วง พ.ศ.2476-2478 ปัจจุบันยังคงลักษณะเดิม เป็นแฟรต 6 ชั้น มีห้องใต้หลังคา มีหลายสิบห้องในอาคารเดียวกัน บริเวณเสารั้วด้านหน้าขวามือปัจจุบันขึ้นป้ายว่า CFT Compagnie Fiduciaire Temko S.A. เหนือประตูกระจกมีกรอบโลหะสีเขียว โดยทางเข้าอาคารขึ้นอักษรเลข 16 ชัดเจน แฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ ซึ่งเมื่อเดินผ่านประตูรั้วเข้าไปบริเวณด้านหน้าจะเป็นพื้นที่ทางเดินภายใน และมีสวนหย่อมยามที่เดินผ่านไปยังประตูหลัง ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งเป็นลานจอดรถ ส่วนหนึ่งเป็นสวนหย่อมปลูกหญ้าสีเขียว และมีลานกีฬาสนามเด็กเล่น และจะเห็นระเบียงแฟรตที่ยื่นมาด้านหลังอย่างชัดเจน มิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย สำหรับภาพระเบียงแฟรตบนถนนทิสโซต์นี้ คาดว่าผู้อ่านหลายๆ คนคงจะชินตากับภาพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯของพวกเราทรงล้างระเบียง หรือบางครั้งอาจจะออกมาพักผ่อนพระอริยาบถ หรือทรงอ่านหนังสือ ซึ่ง ณ บริเวณนี้ในปัจจุบันก็ยังคงสภาพเดิมไม่แปลี่ยนแปลง ขาดก็แต่ดอกไม้ประดับหลากสีนานาพันธ์ที่พระราชชนนีทรงนิยมนำมาประดับตกแต่งห้องเท่านั้นเอง ทั้งนี้เมื่อย้อนดูเส้นทางตามรอยพระยุคลบาทตามพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ ว่า แฟรตเลขที่ 16 บนถนนทิสโซต์นี้อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก เดินสัก 15 นาทีก็ถึง แม้ว่าจะเป็นตึกใหญ่ที่ทีมีหลายๆ ห้อง แต่เนื่องจากระราชชนนีเกรงว่าพระโอรส และพระธิดาอาจจะวิ่ง หรือกระโดดไปรบกวนคนที่พักอยู่ข้างใต้ จึงได้ทรงเช่าแฟรตอยู่ข้างล่าง แฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ มักออกมาทรงเล่น และทรงหัดขี่จักรยานกันที่สนามหลังแฟรตแห่งนี้ ขณะที่บริเวณตึกในบล็อกเดียวกันนั้น ยังมีที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งทั้งสี่พระองค์มักจะเสด็จไปส่งจดหมาย เพื่อถวายสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าฯ พร้อมกันนี้ยามใดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯทรงเสด็จพร้อมพระราชชนนี พระองค์จะทรงช่วยถือของกลับแฟรตมาทุกครั้ง แม้ยามนั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่มาก ด้วยความสงบ ความเป็นระเบียบ และการช่วยเหลือพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเริ่มต้นชีวิตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดินได้ใช้องค์ความรู้ที่ทรงศึกษา และเรียนรู้ด้วยพระองค์เอง จนก่อเกิดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง แฟรตเลขที่ 16 ถนนทิสโซต์ ดั่งเช่นข้อมูลที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ ว่า "...บุคลิก และพระราชจริยวัตรในกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นั้น มาจากกรรมพันธุ์ที่ได้จากพระชนก และพระราชชนนีอย่างละครึ่ง ส่วนอื่นๆ ที่ตามมาคือ สิ่งแวดล้อม หรือสังคม ซึ่งจะต้องพิจารณาจากสถานะที่เกิดมา และการเปลี่ยนแปลงของฐานะนั้นๆ อาจจะเป็นในด้านยศศักดิ์ หรือทางเศรษฐกิจ และที่อยู่ เช่นเมือง หรือประเทศเป็นต้น..." สำหรับฉบับหน้าความทรงจำใต้เบื้องพระยุคลบาทจะพาไปสถานที่แห่งใดนั้นคงต้องรอติดตาม!!!